ชป.แจงอ่างฯน้ำงาวยังไม่ชี้ขาดจุดก่อสร้าง พร้อมปรับลดพื้นที่ไม่กระทบชาวบ้านขวัญคีรี

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีราษฎรชาวปกาเกอะญอบ้านขวัญคีรี อ.งาว จ.ลำปาง คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาว กลัวพื้นที่ป่า ที่ทำกิน ไร่ สวน โรงเรียน และหมู่บ้านถูกน้ำท่วม การสร้างเขื่อนจะทำลายป่าไม้หลายหมื่นไร่ รวมทั้ง การสร้างเขื่อนเป็นการจัดการทรัพยากรของรัฐที่ขาดความเป็นธรรม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นั้น

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่บ้านแม่หยวก หมู่ที่ 4 ตำบลหลวงเหนือ อำเภองาว จังหวัดลำปาง กรมชลประทานได้พิจารณาดำเนินการในลักษณะของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการจ้างศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพชั้น 1 และอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) มากกว่า 500 ไร่ รวมทั้งการทบทวนระดับเก็บกักที่เหมาะสมของโครงการฯให้เหมาะสม

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ 6 ตำบลของอำเภองาว ได้แก่ ตำบลนาแก ตำบลบ้านโป่ง ตำบลปงเตา ตำบลหลวงใต้ ตำบลหลวงเหนือ และตำบลบ้านร้อง ต่างๆประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในฤดูแล้ง แม่น้ำงาวจะแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อการผลิตประปา การอุปโภคบริโภค และการเกษตร เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเป็นโครงการที่ราษฎรทั้ง 6 ตำบล ของอำเภองาวมีความหวังที่จะให้เกิดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว – อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีการจัดกิจกรรมประชุมหารือกับผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการระดับจังหวัด อาทิ ฝ่ายปกครอง ป่าไม้จังหวัด อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงราษฎรบ้านขวัญคีรีที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการฯนี้ ซึ่งได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภองาว มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 150 คน หลังจากนั้น ยังไม่ได้มีการดำเนินการกิจกรรมอื่นใด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 ซึ่งตามแผนงานด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน จะต้องดำเนินการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการฯ)ด้วย ดังนั้น การจัดประชุมที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงการจัดปฐมนิเทศโครงการฯ ให้ราษฎรในพื้นที่ได้รับทราบที่มาที่ไปของโครงการฯ เท่านั้น ยังไม่ได้สรุปลักษณะของโครงการฯแต่อย่างใด

 “หลังจากได้ลงพื้นที่ไปรับฟังข้อกังวลของราษฎรบ้านขวัญคีรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 120 คน ได้มีการพิจารณาถึงจุดที่ตั้งโครงการฯ และระดับเก็บกักน้ำที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบตามที่ราษฎรบ้านขวัญคีรีกังวล และสิทธิของผู้ที่ควรได้รับการพัฒนาโครงการใน 6 ตำบล เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ได้ผลการคัดเลือกในเบื้องต้นที่เหมาะสม โดยอ่างเก็บน้ำจะมีความจุที่ระดับเก็บกัก 15.23 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่น้ำท่วมอยู่ในพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (ป่า C) 509.39 ไร่ กระทบพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A 441.98 ไร่ ส่วนพื้นที่น้ำท่วมนั้น ยืนยันว่าจะไม่กระทบไปถึงเขตบ้านขวัญคีรีแน่นอน จะอยู่เฉพาะในเขตบ้านท่าเจริญ และบ้านข่อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลการคัดเลือกนี้ ยังไม่ใช่ข้อสรุป จะต้องนำไปเสนอในการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแผนงานที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการนำไปชี้แจงกับราษฎรบ้านขวัญคีรีอีกครั้ง แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดสถานการณ์ COVID 19 นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน จะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากโครงการในทุกด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชน เพื่อให้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานเกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด


กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

29 พฤาภมคม 2563