กรมชลประทาน ชี้แจงงกรณีชาวบ้านต.ลำตะเคียน อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ร้องเรียนน้ำในคลองห้วยทรงที่เป็นคลองชลประทานเส้นหลัก แห้งตลอดทั้งสาย เกษตรกรไม่สามารถทำนาได้ อยากให้ชลประทานหาทางผันน้ำให้เกษตรกร นั้น
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า กรมชลประทานได้ร่วมกับนายอำเภอผักไห่ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบว่าคลองห้วยทรงหรือคลองลำตะเคียน ปัจจุบันน้ำในคลองแห้งเกษตรกรไม่สามารถเริ่มทำนาได้ และหากไม่รีบทำนาในช่วงนี้ เกษตรกรเกรงว่าจะเก็บเกี่ยวไม่ทันต่อโครงการตัดยอดน้ำ เข้าทุ่ง ทำให้เกิดความวิตกกังวล ซึ่งทางโครงการชลประทานส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ ได้ชี้แจงสถานการณ์น้ำของ 4 เขื่อนหลัก และเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำการเกษตรในช่วงนี้ได้ เนื่องจากประมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่น้อยมาก สามารถสนับสนุนได้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น โดยขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอ ซึ่งเกษตรกรต่างมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี
ส่วนกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นกังวลว่า หากเริ่มทำนาในช่วงที่ฝนตกเป็นปกติ คือในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป อาจทำให้เก็บเกี่ยวไม่ทันโครงการตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง และอยากขอความชัดเจนในเรื่องโครงการตัดยอดน้ำเข้าทุ่งในปี 2563 นั้น ขอชี้แจงว่าหลักการตัดน้ำเข้าทุ่งนั้น คือ หากมีปริมาณฝนที่ตกลงในพื้นที่จำนวนมากจนทำให้น้ำในแม่น้ำ คลอง ปริมาณสูงและจะเข้าท่วมในพื้นที่สำคัญๆ กรมชลประทานจะพิจารณาตัดน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่เหนือ และ/หรือ ใกล้พื้นที่เฝ้าระวังนั้นๆ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะท่วมในพื้นที่ดังกล่าว โดยในช่วงฤดูฝนปี 2563 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝนจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5 ซึ่งแตกต่างจากฤดูฝนปี 2560 และปี 2561
อย่างไรก็ตาม ขอให้เกษตรกรติดตามสภาพฝนที่ตกในช่วงฤดูฝนปีนี้จากกรมอุตุนิยมวิทยา หรือสามารถติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำของกรมชลประทานได้จากหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ “water.rid.go.th” หรือแอพพริเคชั่น WMSC หรือเฟสบุ๊ค “เรารักชลประทาน” หรือสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน
…………………………………………