ก.แรงงาน ลุยภูเก็ต พัฒนากำลังคนท่องเที่ยวและบริการ

วันที่ 9 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุม ไวส์เฮ้าส์ โรงแรมโบ๊ทลากูน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนา “ทิศทางการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันในยุค 4.0”

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดการสัมมนาว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป็นจำนวน 364,165 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากที่สุด และตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง) พ.ศ. 2561 – 2564 ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคบริการการท่องเที่ยวแรงงานก่อสร้าง และอุตสาหกรรมประมง ประกอบกับปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตกำลังดำเนินการเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล เรือสำราญและการกีฬา (Marina Hub) มีท่าเทียบเรือ จำนวน 38 แห่ง มีท่าเทียบเรือสำราญ (Marina) จำนวน 5 แห่ง มีเรือยอร์ชและเรือครูซมาใช้บริการประมาณ 1,500 ลำต่อปี มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda-Based) ของกระทรวงแรงงาน

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่ากระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานกลุ่มท่องเที่ยวและการบริการ การบริการด้านสุขภาพกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยในปี 2561 มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 3,277 คน และได้บูรณาการร่วมกับบริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด ดำเนินการพัฒนาศักยภาพแรงงานในธุรกิจท่าเทียบเรือสำราญสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์เรือ ช่างบำรุงรักษาเครื่องยนต์เรือ ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานประจำท่าเรือ ช่างสีเรือ ช่างซ่อมไฟเบอร์เรือ และพนักงานประจำท่าเรือ เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 100 คน เพื่อยกระดับ ฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

การจัดสัมมนา “ทิศทางการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันในยุค 4.0″ ในวันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาฝีมือแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ตามทิศทางการพัฒนาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่ไทยแลนด์ 4.0 และวางแผนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการและแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันในอนาคต พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อาทิ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ต นายกสมาคมพ่อครัวไทยภูเก็ต นายกสมาคมสปาภูเก็ต ประธานชมรมบริหารงานบุคคลภูเก็ต ประธานชมรมอาหารและเครื่องดื่มอันดามัน โดยผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน สมาคมและองค์กรวิชาชีพ สถานประกอบกิจการและบุคลากรด้านท่องเที่ยว และหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จำนวน 300 คน

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สพร.21 ภูเก็ต จึงจัดฝึกอบรม ให้กับช่างฝีมือ ช่างในธุรกิจท่าเทียบเรือ กำลังแรงงานใหม่ ประชาชนทั่วไปที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ รวมถึงนักศึกษาอาชีวะภายในจังหวัดภูเก็ต  ในสาขาที่ขาดแคลน จำนวน 4 สาขา ได้แก่ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เรือ ช่างทาสีเรือ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์เรือ ช่างซ่อมไฟเบอร์เรือ การฝึกอบรมดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2561  นอกจากสาขาด้านช่างแล้ว ยังมีการฝึกอบรมด้านภาคบริการด้วย อาทิ สาขาพนักงานผสมเครื่องดื่ม สาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก (หัตถบำบัด) สาขาพนักงานประจำท่าเรือ

“การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมการให้บริการ มีความเกี่ยวเนื่องทำให้เกิดอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม อาชีพอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงาน รวมถึงการลงทุน ดังนั้นอุสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงสร้างรายได้ให้กับประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แรงงานในด้านนี้จึงต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้ทันต่อการเจริญเติบโต” รมว.กล่าวทิ้งท้าย