กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย วิกฤตโควิด-19 เป็นแรงส่ง ดันถุงมือยางขึ้นแท่นสินค้าดาวรุ่ง ทำยอด 4 เดือนแรกปี 2563 พุ่งร้อยละ 16 หนุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อช่วยส่งออกตลาดโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการถุงมือยางเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากสินค้าดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วย นอกจากนี้ ถุงมือยางยังเป็นสินค้าจำเป็นในยุคความปกติใหม่ (New Normal) เพราะประชาชนตื่นตัวเรื่องสุขอนามัยและหันมาใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันเชื้อโรคมากขึ้น ทำให้ความต้องการถุงมือยางในตลาดสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) พบว่า ไทยส่งออกถุงมือยางไปตลาดโลกมูลค่า 449 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 มีตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว เช่น จีน ขยายตัวร้อยละ 129.5 มูลค่าส่งออก 31 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 79 มูลค่าส่งออก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 77 มูลค่าส่งออก 18 ล้านเหรียญสหรัฐ และ สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 9 มีมูลค่าส่งออก 194 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
นางอรมน เสริมว่า ไทยมีห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมถุงมือยางที่ครบวงจร คือ มีผลผลิตยางพารา สามารถผลิตน้ำยางข้นได้เอง และมีเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางที่มีมาตรฐาน ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งทั้งในด้านต้นทุนราคาและได้รับการยอมรับด้านคุณภาพ รวมถึงสามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศและเพื่อการส่งออก ดังนั้น ในช่วงที่แนวโน้มความต้องการถุงมือยางเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นแต้มต่อช่วยในการส่งออก โดยปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าถุงมือยางของไทยแล้ว เหลือเพียงอินเดียที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าถุงมือยางที่ร้อยละ 10
ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยผลิตถุงมือยางได้กว่า 2 หมื่นล้านชิ้น มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 89 ของการจำหน่ายถุงมือยางทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 1,203 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซีย และจีน เมื่อเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 พบว่า มูลค่าส่งออกขยายตัวร้อยละ 992 การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวทุกตลาด โดยตลาดอินเดีย ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 16,872 รองลงมาคือ จีน ขยายตัวร้อยละ 16,505 และ เปรู ขยายตัวร้อยละ 6,000 โดยถุงมือยางจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายที่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ไทยสูงเป็นอันดับ 2 รองจากผลิตภัณฑ์กลุ่มยางล้อรถยนต์
………………………………………………………….