นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือนในปี 2560 พบว่า เด็กและเยาวชนที่อายุระหว่าง 6-24 ปี มีประมาณ 16.8 ล้านคน เป็นเพศชาย 8.5 ล้านคน (ร้อยละ 50.8) และเพศหญิง 8.3 ล้านคน (ร้อยละ 49.2) เด็กและเยาวชนที่ใช้คอมพิวเตอร์ พบว่า สถานที่ใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่ใช้ที่สถานศึกษา ร้อยละ 86.3 รองลงมาใช้ที่บ้านพัก/ที่พักอาศัย ร้อยละ 43.7 และใช้ที่ร้านอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 22.5
ส่วนกิจกรรมที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเรียนรู้สูงสุด ร้อยละ 87.2 รองลงมาใช้เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 79.9 และใช้เพื่อความบันเทิง ร้อยละ 72.4 จากเด็กและเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า สถานที่ใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่ใช้ตามสถานที่ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือร้อยละ 82.5 รองลงมาใช้ที่บ้าน/ที่พักอาศัย ร้อยละ 64.7 และใช้ที่สถานศึกษา ร้อยละ 60.6 ส่วนกิจกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ใช้ในการดาวน์โหลด รูปภาพ/หนัง/เพลง/เกมส์ ดูหนัง ฟังเพลง วิทยุ ร้อยละ 92.0 รองลงมาเป็นการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ร้อยละ 87.2 และใช้ในการอัพโหลดข้อมูล รูปภาพ/ภาพถ่าย วีดิโอ เพลง ซอฟต์แวร์ เพื่อการแบ่งปันบนเว็บไซต์ ร้อยละ 59.7 อุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต พบว่า โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ที่นิยมใช้สูงสุด ร้อยละ 86.6 รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ร้อยละ 65.2 และคอมพิวเตอร์พกพา ร้อยละ 21.3 จากเด็กและเยาวชนมีโทรศัพท์มือถือ พบว่าส่วนใหญ่เป็นการใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ซึ่งมีผู้ใช้สูงสุดถึงร้อยละ 95.2
ส่วนใหญ่การใช้โทรศัพท์มือถือในกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการโทรออกและรับสายเข้าเป็นหลัก เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ใช้ฟังก์ชั่นบนโทรศัพท์มือถือ (เช่น การถ่ายรูป เครื่องคิดเลข ฟังวิทยุ) ร้อยละ 92.1 รองลงมาใช้รับ – ส่งข้อความ ร้อยละ 78.4 และใช้บริการดาต้าอินเทอร์เน็ต (เช่น ข้อความมัลติมิเดีย อีเมล์ โซเชียลมีเดีย) ร้อยละ 65.3 ในยุคโลกาภิวัตน์เกือบทุกอย่างบนโลกใบนี้ถูกสร้างและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการในเรื่องความสะดวกสบายให้กับมนุษย์มากที่สุด เรื่องการเรียนรู้ก็ไม่ต่างกัน เพราะมนุษย์พัฒนาอินเทอร์เน็ตให้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้จากทั่วทุกมุมโลกอย่างง่ายดาย พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nso.go.th นายภุชพงค์ฯ กล่าว