วันที่ 25 พ.ค. 2563 ณ วว. เทคโนธานี ดร.พสุ โลหารชุน ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ร่วมรับมอบครุภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้า EV จำนวน 7 คัน และสถานีชาร์จไฟ Normal/Quick Charger จำนวน 5 สถานี จากโครงการ Japan’s Non-Project Grant Aid for Provision of Next-Generation Vehicle (FY2014) ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลญี่ปุ่น โดย Japan International Cooperation System (JICS) และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานภาครัฐ และเป็นหลักชัยสำคัญในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีราคาค่าพลังงานต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มีภารกิจหลักในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ เช่น ทั้งทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในส่วนของภาคขนส่งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ภาคยานยนต์ ระบบราง ทางหลวง การบิน ฯลฯ วว. ได้ให้การสนับสนุนงานบริการ งานวิจัย มาอย่างต่อเนื่อง และยังเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่จะเกิดขึ้นกับภาคขนส่งของประเทศในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งความตระหนักถึงสภาพปัญหาต่างๆ ที่จะติดตามมาด้วย เช่น ปัญหาราคาพลังงาน การจราจร การเกิดอุบัติเหตุ ฝุ่นละออง PM2.5 การแพร่ระบาดของเชื้อโรค มลพิษทางเสียง และสภาพแวดล้อม เป็นต้น
“…การสนับสนุนครุภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้า EV และสถานีชาร์จไฟ Normal/Quick Charger ของรัฐบาลญี่ปุ่นและกระทรวงการต่างประเทศให้แก่ วว. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหน่วยงานภาครัฐ และจะเป็นหลักชัยสำคัญในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนเริ่มให้ความสนใจในเรื่องราคาพลังงานและมีความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ผู้คนก็ยังต้องเดินทางด้วยรถยนต์หรือระบบขนส่งสาธารณะ จึงทำให้ความสนใจในยานยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้น เนื่องจากราคาค่าพลังงานต่ำกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเครื่องยนต์สันดาป และปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกพัฒนาไปไกลมาก เราเริ่มเห็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทั้งแบบไฮบริด (HEV) หรือแบบแบตเตอรี่ (BEV) และติตตามมาด้วยสถานีชาร์จอัดประจุที่เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศกำลังปรับตัวเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า วว. คาดการณ์จะมีช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีอยู่ระยะหนึ่ง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย วว. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการ เครื่องมือทดสอบวิเคราะห์ต่าง ๆ ตลอดจนการพยายามปรับรูปแบบการดำเนินงานเป็นเชิงรุก และการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อให้สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมขนส่งในประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้า EV และสถานีอัดประจุทั้งแบบ Normal และQuick Charger ที่ได้รับมอบจากรัฐบาลญี่ปุ่น ได้มีการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วว. ได้ตั้งคณะทำงานด้านวิชาการรถยนต์ EV ขึ้น ประกอบด้วยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ของ วว. ทั้งหมด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งาน ทั้งด้านความเหมาะสม ข้อดี ข้อจำกัดของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ เก็บรวบรวมข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุ ที่มีการใช้งานตามพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายของ วว. เช่น พื้นที่ในเมือง พื้นที่นอกเมือง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ภูเขา เป็นต้น
ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมถึงการทดสอบการใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า ทีมงานของ วว. จะมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์วัดสัญญาณที่ทันสมัย เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานต่างๆ เช่น ภาระกรรม การสั่นสะเทือน อุณหภูมิ รวมทั้งข้อมูลการบำรุงรักษาตัวรถ การบำรุงรักษาสถานีชาร์จไฟ เพื่อนำมาประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติและทางวิชาการ เช่น อัตราการใช้พลังงาน ความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ความปลอดภัย การเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อให้เกิดเป็นฐานข้อมูลการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ซึ่ง วว. คาดว่าจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้า EV และสถานีอัดประจุ ที่ได้รับมอบจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค และเกิดมูลค่าเพิ่มสามารถพัฒนาต่อยอดช่วยเสริมแกร่งผู้ประกอบการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยต่อไปในอนาคต