วันที่ 25 พ.ค. 63 ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมี ดร.ประยูร หรั่งทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา สช. นางพรพรรณ มนตรีพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา สช. ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ผอ.สสวท.) ทีมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายวิชาการและครูโรงเรียนเอกชน จากโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ของ สช. ทั้ง 148 โรงเรียน รวมจำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมการประชุมผ่านโปรแกรม ZOOM ณ ห้องประชุมบัวสัตตบรรณ ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นห้องปฏิบัติการ
ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช. กล่าวว่า การประชุมชี้แจงหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านโปรแกรม ZOOM ในวันนี้ เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการที่โรงเรียนเอกชนทั่วไปจะจัดการศึกษาในลักษณะการสอนเสริมวิชาวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษหรือนักเรียนในโครงการพิเศษของโรงเรียน ซึ่งการสอนพิเศษเสริมให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านนั้นๆ เพียงด้านเดียว ทำให้ขาดการบูรณาการ ความรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จึงได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยให้มีการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ และจัดกิจกรรมเสริมทักษะพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์โดยหลักสูตรสำหรับห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. นั้น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้ครบถ้วนทุกกระบวนการ เนื่องจากโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ได้มุ่งส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการพัฒนาให้เกิดทักษะกระบวนการคิดขั้นสูง เพื่อส่งเสริมให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษได้รับการศึกษาที่แตกต่างไปจากปกติและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ถึงระดับสูงสุด
สช. ได้ร่วมกับ สสวท. ดำเนินการจัดโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชนขึ้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 โดยเริ่มดำเนินการในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น คือ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีโรงเรียนเอกชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 115 โรงเรียน แต่มีโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อมในการจัดทำหลักสูตรสำหรับห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และได้รับความเห็นชอบจาก สสวท. เพียง 42 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการพัฒนาให้มีการปรับและจัดทำหลักสูตรเฉพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ พัฒนาครูให้ได้รับการอบรมเทคนิควิธีการสอนแบบบูรณาการรายวิชาที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งการพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้มีทักษะกระบวนการคิดขั้นสูง โดยในปีการศึกษา 2562 นักเรียนในโครงการดังกล่าว ได้ศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งครบรอบการพัฒนาในระยะเวลา 3 ปี ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สช. และ สสวท. แล้ว สำหรับในปีการศึกษา 2563 นี้ มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 1 ประสงค์เข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อรองรับนักเรียนในโครงการที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีโรงเรียนเอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รุ่นที่ 2 จำนวน 106 โรงเรียน สช. จึงได้จัดให้มีการประชุมในวันนี้ขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องการจัดหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย สำหรับเป็นข้อมูลให้โรงเรียนที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ ในการจัดทำหลักสูตรเสนอต่อ สสวท. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป จึงขอชื่นชมผู้บริหารของโรงเรียนเอกชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการทุกโรงเรียน และขอเป็นกำลังใจให้โรงเรียนสามารถจัดทำหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนจนสำเร็จ และได้รับความเห็นชอบจาก สสวท. ครบทุกโรงเรียน เลขาธิการ กช. กล่าว
สำหรับการประชุมชี้แจงหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านโปรแกรม ZOOM ในวันนี้ มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในอนาคต โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. เรื่อง การจัดหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย โดย ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการ สสวท. และคณะ เรื่อง ทฤษฎี และแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ โดย ดร.นพรัตน์ ศรีเจริญ นักวิชาการ สสวท. และคณะ เรื่อง แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน โดย นางสุนิตยาภรณ์ รัตนเทพี ที่ปรึกษาโครงการ และคณะ และเปิดโอกาสให้ซักถามในประเด็นเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชน โดย รองผู้อำนวยการ สสวท. สช. และคณะ