นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นายอิ่ม จิตต์ภักดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พุทธศักราช 2540 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เวลาประมาณ 11.14 น. ณ บ้านพักเลขที่ 452/3 หมู่ที่ 2 ถนนไพศาลบำรุง ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เนื่องจากโรคชรา สิริรวมอายุ 99 ปี โดยทางญาติแจ้งว่า ได้ดำเนินการขอพระราชน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 เวลา 17.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพวันที่ 24 – 26 พฤษภาคม 2563 เวลา 19.00 น. ณ วัดไทรใหญ่ ตำบลควนรู อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ต่อไป
อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า นอกจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ จะขอพระราชทานเพลิงศพแล้ว ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ
สำหรับประวัติของนายอิ่ม จิตต์ภักดี หรือเป็นที่รู้จักกันดีชื่อ “หนังอิ่มเท่ง” ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พุทธศักราช 2540 เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2464 เป็นผู้มีความสนใจ
การแสดงหนังตะลุงตั้งแต่เด็ก เริ่มแสดงหนังตะลุงแบบครูพักลักจำ ไม่มีใครสอนให้โดยตรง และความศรัทธา
ในการแสดงหนังตะลุงจึงได้สมัครเป็นศิษย์หนังหม้ง แห่งบ้านชะรัด จังหวัดพัทลุง ซึ่งหนังหม้งได้ถ่ายทอด
วิชาความรู้เกี่ยวกับการเล่นหนังตะลุง และพาขึ้นโรงและครอบครู ทำให้นายอิ่ม มานะฝึกฝนการแสดงมากยิ่งขึ้น ความมีปฏิภาณไหวพริบด้านการแสดงที่จับใจผู้ชมในการด้นกลอนสดที่พลิกแพลงสอดคล้องกับเหตุการณ์ทำให้คณะหนังตะลุง ที่มีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบทตลกที่มี “เท่ง” เป็นตัวเอกนั้น แสดงได้ถูกใจประชาชน จนได้รับฉายาต่อท้ายชื่อ “หนังอิ่มเท่ง” มาจนปัจจุบัน
นายอิ่ม จิตต์ภักดี มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 รับงานแสดงทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นคณะหนังตะลุงที่ยังคงรักษาแบบฉบับหนังตะลุงรุ่นเก่าไว้เป็นอย่างดี การแสดงทุกเรื่องจะสอดแทรกคติธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีแก่ประชาชน และยังได้เข้าแข่งขันประชันหนังตะลุงประมาณ 1,000 กว่าครั้ง จนได้รับรางวัลกลองทองคำ เสื้อสามารถ ถ้วยเกียรติยศ และขันน้ำพานรอง ฯลฯ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พุทธศักราช 2540