(22 พฤษภาคม 2563) ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า ทาง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำลังจัดเตรียมข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อการพิจารณาทบทวนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนเอกชน ประเภทนานาชาติว่า ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 216 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เป็นเท่าตัว และการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาตินั้น มีการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละที่ โดยแบ่งเป็นแบบ เปิดสอน 2 ภาคเรียน จำนวน 81 แห่ง และเปิดสอน 3 ภาคเรียน จำนวน 135 แห่ง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาโรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มในการขยายสู่ภูมิภาคมากขึ้นด้วย และการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาตินั้น จะมีการเปิดภาคเรียนที่ 1 อยู่ในช่วงเดือน พฤษภาคม – เดือน มิถุนายน จำนวน 11 แห่ง เป็นภาคเรียนที่ 3 จำนวน 201 แห่ง ส่วนในเดือนมิถุนายนนั้น จะเป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติจำนวน 201 แห่ง และเดือนกรกฎาคมนั้น จะเป็นเดือนของการปิดภาคเรียน จำนวน 197 แห่ง ดังนั้น หากการเปิดภาคเรียนตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการในวันที่ 1 กรกฎาคมนั้น อาจทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับโรงเรียนนานาชาติ จึงเป็นสาเหตุของการขอผ่อนผันให้โรงเรียนนานาชาติสามารถทำการเปิดเรียนได้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน อีกทั้งโรงเรียนนานาชาตินั้น มีปัจจัยความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับมาตรการการป้องการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ดังนี้คือ 1) มีปัจจัยที่เอื้อต่อความปลอดภัย นักเรียนต่อห้อง 20-25 คน (ส่วนใหญ่ 10-20คน) มีพื้นที่โรงเรียนกว้าง มีห้องเรียน/ห้องกิจกรรม เพียงพอ มีจำนวนครูและบุคลากรต่อนักเรียน เฉลี่ย 1:10 (อนุบาล 1:7) ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ ผู้ปกครองมีศักยภาพและมีความพร้อมสูงในการป้องกันโรค โรงเรียนมีที่ตั้งในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว
ดร.อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้นักเรียนต่างชาติของโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้พำนักอยู่เดิมในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้ อีกทั้งโรงเรียนนานาชาติมีระบบสอน online อยู่แล้ว ทำให้นักเรียนจำเป็นต้องเข้ามาในโรงเรียนช่วงสั้นๆ ทำให้สามารถติดตามนักเรียนได้ง่ายในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ 2) เพื่อลดผลกระทบทางธุรกิจและสังคม เนื่องจากในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาโรงเรียนนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ใช้หลักสูตรเดียวกันทำให้จำเป็นต้องปรับช่วงเวลาให้ตรงกับหลักสูตรของต่างประเทศด้วย และผู้ปกครองไม่ยอมรับการสอนแบบ online ตลอดภาค เรียนแต่ต้องการแบบผสมผสาน (hybrid) ทำให้ผู้ปกครองชะลอการจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน จนทำให้เกิดการฟ้องร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการเรียนคืน และมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก จากปัจจัยเหล่านี้หากโรงเรียนเอกชน ประเภทนานาชาติใด จะทำการเปิดเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ จะต้องดำเนินการตามมาตรการรองรับการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในโรงเรียนเอกชน ประเภทนานาชาติ อย่างเคร่งครัดดังนี้
มาตรการก่อนเปิดเรียน
1. โรงเรียนทำการสำรวจข้อมูลครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ภายใน 14 วัน หรือมีอาการที่แสดงว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และให้แจ้งโรงเรียนรับทราบโดยทันที
2. โรงเรียนมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานอย่างชัดเจน จัดเตรียมสถานที่ในห้องเรียน พื้นที่นอนกลางวัน พื้นที่การเรียนรวม โรงอาหาร พื้นที่สันทนาการ โดยใช้ social distancing ให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระหว่างบุคคล พร้อมทำป้ายสัญลักษณ์แจ้งเตือนทั่วบริเวณโรงเรียน และต้องหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
3. โรงเรียนมีการทำความสะอาดพื้นที่ภายในโรงเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนทุกครั้งก่อนเปิดเรียนอย่างต่อเนื่อง
4. โรงเรียนกำหนดจุดคัดกรองบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนักเรียน ครู และบุคลากรที่มาติดต่อกับโรงเรียนทุกรายและทุกครั้ง
5. โรงเรียนมีจุดบริการทำความสะอาดมือและมีการจัดเตรียมสบู่ล้างมือ แอลกอฮอล์เจล บริเวณทางเข้าประตู โรงเรียน ห้องเรียน บริเวณอาคาร ห้องน้ำ หรือสถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง
6. โรงเรียนให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรงเรียนแก่ครู บุคลากร และพนักงานของโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง นักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง
7. โรงเรียนจัดให้มีป้ายประชาสัมพันธ์แนะนำมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของโรงเรียน การสังเกตอาการ และอื่นๆ
8. โรงเรียนจัดทำแผนการเรียนการสอน โดยโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมาก อาจแบ่งนักเรียนสลับมาเรียนที่โรงเรียนแต่ละห้องหรือแต่ละชั้นตามความเหมาะสม และจัดให้มีการเหลื่อมเวลาเข้าเรียน เลิกเรียน รวมถึงเวลาพักของนักเรียนแต่ละชั้นปี
มาตรการระหว่างเปิดเรียน
9. ผู้ปกครองต้องตรวจวัดอุณหภูมิของนักเรียนทุกครั้งก่อนออกจากบ้านมาโรงเรียน หากตรวจพบอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา ต้องไม่ให้นักเรียนมาโรงเรียน
10. พนักงานประจำรถและพนักงานขับรถโรงเรียนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนปฏิบัติหน้าที่หากตรวจพบอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ และต้องทำความสะอาดรถทุกรอบ
11. พนักงานประจำรถโรงเรียน มีเทอร์โมมิเตอร์ประจำตัว และต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนักเรียนก่อนขึ้นรถรับ – ส่งนักเรียน หากตรวจพบอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้ขึ้นรถและนักเรียนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะที่อยู่บนรถ
12. บุคคลทุกคนที่จะเข้ามาภายในบริเวณโรงเรียนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดกรองที่ประตูทางเข้าโรงเรียน ในกรณีที่พบ ผู้มีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา หรือมีอาการไข้ ไอ จามมีน้ำมูก หรือมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาภายในบริเวณโรงเรียน และมีการบันทึกข้อมูลเก็บไว้
13. นักเรียน ครู และบุคลากร หรือผู้มาติดต่อกับโรงเรียนทุกคน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่อยู่ภายในพื้นที่บริเวณโรงเรียน
14. โรงเรียนต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
15. เพิ่มความเข้มข้นในการทำความสะอาดภายในโรงเรียน ห้องเรียน ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น อุปกรณ์การเรียน กีฬา เครื่องดนตรี ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำหลังเลิกเรียนทุกวัน หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และของเล่นร่วมกันต้องมีการทำความสะอาดก่อนและหลังใช้งานทุกครั้ง รวมถึงไม่อนุญาตให้นำของเล่นส่วนตัวมาใช้ในโรงเรียน
16. โรงเรียนต้องมีการควบคุมคุณภาพการประกอบอาหารและการจัดการน้ำดื่มในโรงเรียนให้ถูกสุขอนามัย
17. ยกเลิกการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาคบ่าย (Extra Curricular Activities) ทั้งหมด
18. งดการประชุมหรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีคนหมู่มาก
19. งดกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่ต้องสัมผัสตัวกับผู้ร่วมแข่งขัน หรือกีฬาประเภทที่ต้องแข่งขันเป็นทีม
20. นักเรียนจะได้รับคำเตือนจากครูให้ล้างมือเมื่อจบคาบเรียนทุกๆ คาบ หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสวัสดุต่าง ๆ โดยมีเจลล้างมือให้บริการหน้าโรงเรียน ในห้องเรียน ห้องน้ำ และโรงอาหาร
21. นักเรียนและพนักงานทุกคนจะต้องมีขวดน้ำ/กระติกน้ำของตนเอง
22. ในกรณีที่พบนักเรียนติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) หรือเจ็บป่วย ให้มีผู้ประสานงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อดำเนินการคัดแยกและดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย
23. หลีกเลี่ยงการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลาต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง
24. การจะให้นักเรียนมาหรือไม่มาโรงเรียนในแต่ละวันให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ปกครอง
มาตรการหลังเลิกเรียน
25. โรงเรียนต้องแจ้งผู้ปกครอง เพื่อรับนักเรียนกลับบ้านทันทีหลังเลิกเรียน
26. โรงเรียนมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลมาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID –19) และรายงานผู้อำนวยการสถานศึกษาทราบเป็นประจำทุกวัน
“ซึ่งข้อมูลของมาตรการ และข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทาง สช.จะได้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป” ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย