กสม. เสนอมาตรการคุ้มครอง กรณีชาวบ้านสระบุรีร้องเรียนให้ตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานไก่ ย้ำประชาชนต้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและสามารถร่วมแสดงความเห็นต่อกิจการในพื้นที่ได้

นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่า กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีตัวแทนชาวบ้านตำบลปากข้าวสารและตำบลหนองยาว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ขอให้ตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กรณียื่นคำขออนุญาตตั้งโรงงานและคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ โรงงานผลิตอาหารแปรรูป อาหารปรุงสุกจากเนื้อไก่ และอาหารสำเร็จรูป โรงงานบำบัดน้ำเสียและกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน บนพื้นที่ 287 ไร่เศษ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ชุมชน สถานที่ราชการ พื้นที่เกษตรกรรม และอยู่ติดคลองหนองยาว อันเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาและทำการเกษตร ชาวบ้านจึงกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและอนามัย การประกอบอาชีพ และ การดำเนินชีวิตประจำวัน ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยตัวแทนชาวบ้านเห็นว่า เมื่อยื่นคำร้องต่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเพื่อขอทราบรายละเอียดข้อมูลและการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว กลับไม่ได้รับแจ้งข้อมูลแต่อย่างใด นั้น

ประธาน กสม. กล่าวว่า “กสม. ได้พิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นได้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 บริษัทได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานฯ รวมทั้งขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ต่อมาประชาชนได้ร่วมกันร้องเรียนคัดค้านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการยื่นคำขอทำประชาพิจารณ์เพื่อก่อสร้างอาคารโรงงาน โดยยังไม่ได้ยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตใช้น้ำในกระบวนการผลิตและ/หรือขอใช้คลองหนองยาวเป็นแหล่งระบายน้ำ รวมทั้ง ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เนื่องจากต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารโรงงานเสียก่อน อีกทั้งยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนว่าจะใช้น้ำดิบจากแหล่งใดในกระบวนการผลิต และจะระบายน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วไปที่ใด แต่รับว่าแหล่งน้ำผิวดินจากคลองหนองยาวเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งหากโรงงานใช้น้ำจากคลองหนองยาวในกระบวนการผลิตและ/หรือปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่คลองหนองยาว อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในการใช้อุปโภคบริโภคและเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตน้ำประปา”

ในเรื่องดังกล่าว กสม. มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการใช้แหล่งน้ำซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีจำกัดและเป็นสินสาธารณะ (a public good fundamental for life and health) ที่จำเป็นขั้นพื้นฐานต่อชีวิตและสุขภาพ การที่มนุษย์จะดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการได้รับสิทธิมนุษยชนด้านอื่น ๆ การจัดสรรน้ำจะต้องคำนึงถึงสิทธิเกี่ยวกับน้ำเพื่อการใช้สำหรับส่วนบุคคลและในครัวเรือนเป็นลำดับแรก แต่กรณีตาม คำร้องดังกล่าวปรากฏว่า บริษัทอยู่ระหว่างการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะก่อสร้างโรงงานและยื่นคำขอ ทำประชาพิจารณ์เพื่อก่อสร้างอาคารโรงงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตใช้น้ำ รวมทั้ง ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ดังนั้น ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียยังสามารถใช้สิทธิเข้าร่วมใน การแสดงความคิดเห็นได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแจ้งข้อมูลประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบแล้ว ในชั้นนี้ กสม. จึงได้มีข้อเสนอแนะมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อบริษัทที่ถูกร้องเพื่อให้ดำเนินการ ดังนี้

1. บริษัทควรจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานให้ครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตและแหล่งรองรับน้ำทิ้งที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งวิธีการบำบัดน้ำเสียและเก็บกากของเสียที่เป็นมาตรฐานโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อใช้ประกอบการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

2. องค์การบริหารส่วนตำบลปากข้าวสารและองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว ควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นขอประกอบกิจการโรงงาน และความคืบหน้าการดำเนินการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน
ให้ประชาชนและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบการประกอบกิจการโรงงานได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

3. องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาวในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดูแลและบำรุงรักษาแหล่งน้ำคลองหนองยาว ควรดำเนินการบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงสิทธิในการใช้น้ำของบุคคลและลำดับความสำคัญ ในการจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ก่อนที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรมหรือประกอบกิจการใด ๆ ทั้งนี้ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกระเบียบหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเข้าใช้สอยทรัพยากรน้ำสาธารณะนั้นตามแนวทางที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด และหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลในการคุ้มครอง ดูแล บำรุงรักษาความสะอาดทางน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

“อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลและประชาสัมพันธ์ข่าวสารความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการพัฒนาหรือกิจการต่าง ๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ที่หน่วยงานและผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง ส่วนการทำความเข้าใจกับชุมชน และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียควรดำเนินการให้ทั่วถึง และการเข้าร่วมดังกล่าวพึงดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ในขณะนี้ด้วย” นายวัส กล่าวในที่สุด


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

22 พฤษภาคม 2563