รมว.แรงงาน ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) ปรับปรุงแผนขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย และแผนแก้ไขปัญหาไอยูยู สอดรับสถานการณ์ กำชับหน่วยเกี่ยวข้องเร่งรัดขับเคลื่อนงานตามแผนปฏิบัติการ บังคับใช้ กม.เข้มข้น
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) ครั้งที่ 8/2561 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยการประชุมในวันนี้มีวาระสำคัญที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนและปฏิรูปการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ด้านแรงงาน) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อเสนอแนะในรายงาน TIP Report รวมทั้งข้อเสนอแนะจากสภาพยุโรป ซึ่งแผนทั้งสองฉบับได้กำหนดแผนงานที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อาทิ การติดตามผลการดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การอายัดและยึดทรัพย์ผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ การตรวจมาตรฐานสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การลาดตระเวน/สกัดกั้นและจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง/ลูกจ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีตามกฎหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมทุกมิติ และบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้มีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องสำคัญ อาทิ ผลการนำฐานข้อมูล Iris Scan มาใช้ตรวจการทำงานของคนต่างด้าว โดยผลการจัดเก็บข้อมูล ณ 31 มี.ค. 61 จำนวน 171,128 คน ได้นำฐานข้อมูลไปตรวจแรงงาน 15,710 คน ไม่พบข้อมูล 1,215 คน ผลการตรวจแรงงานตามแนวทางใหม่เพื่อคัดกรองเบื้องต้นแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ระหว่างวันที่ 19 ก.พ. – 3 ส.ค. 61 ตรวจแรงงาน/ลูกจ้างยื่นคำร้อง รวม 8,541 แห่ง 108,999 คน พบเข้าข่ายแรงงานบังคับ/ค้ามนุษย์ 8 แห่ง 25 คน ในชั้นพนักงานสอบสวน พบเป็นผู้เสียหาย 5 แห่ง 15 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการทั้งสองฉบับโดยเฉพาะในประเด็นการบังคับใช้กฎหมายทุกหน่วย ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง รวมถึงพนักงานตรวจแรงงาน เพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเชิงรุก
เพื่อสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญา มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และตำรวจ ตรวจสอบมาตรฐานสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชนจะให้ความดูแลทางด้านจิตใจและความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายอย่างเท่าเทียม ตลอดจนสามารถเรียกร้อง
ค่าสินไหมทดแทนและค่าชดเชยให้กับผู้เสียหายได้ นอกจากนี้ ยังได้ให้กรมการจัดหางาน ควบคุมผู้จัดหาแรงงานต่างด้าว โดยห้ามไม่ให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากแรงงานต่างด้าว และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้จัดหาแรงงานในกรณีพบข้อบ่งชี้ว่าการกระทำที่เข้าข่ายเป็นนายหน้าค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด