การส่งออกเดือนเมษายน 2563 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.12 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 4.03 ตามความต้องการสินค้าอาหารของตลาดโลกในช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะข้าวกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน และขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 23.10 อาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.33 นอกจากนี้ อาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร ยังขยายตัวดีในระดับที่น่าพอใจ สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.05 จากการส่งออกทองคำ อากาศยาน แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก
การส่งออกรายตลาด ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น มีการขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ในอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ส่งผลให้ตลาดสหภาพยุโรปหดตัว ทั้งนี้ ตลาดศักยภาพระดับสูง ได้แก่ ตลาดฮ่องกง กลับมาขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และไต้หวัน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยสินค้าที่โดดเด่น คือ แผงวงจรไฟฟ้า ที่การส่งออกไปทั้งสองตลาด ขยายตัวในระดับเลขสองหลัก
ประเด็นที่น่าจับตามอง คือการส่งออกทองคำในเดือนนี้ขยายตัวสูง จากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงเปลี่ยนมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นในระดับสูง โดยในเดือนนี้ ไทยส่งออกทองคำไป 3 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และฮ่องกง ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะราคาที่ทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัว โดยเฉพาะในอาเซียน และ
ซีแอลเอ็มวี (CLMV) สำหรับสินค้าส่งออกอื่นๆ ที่เดือนนี้หดตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ เมื่อหักมูลค่าสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกในเดือนเมษายนหดตัวร้อยละ 7.53 โดยภาพรวมใน 4 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกยังขยายตัวที่ร้อยละ 1.19 แต่เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกใน 4 เดือนแรก จะหดตัวที่ร้อยละ 0.96
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนเมษายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 17.13 โดยการค้าเกินดุล 2,462 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 1.19 ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 75,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.72 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 6,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนเมษายน 2563 การส่งออก มีมูลค่า 613,979 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 541,019 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 14.61 โดยการค้า เกินดุล 72,960 ล้านบาท ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 2,517,136 ล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ 1.07 ขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 2,349,710 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.06 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 167,426 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวที่ร้อยละ 23.1 (ขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฮ่องกง แอฟริกาใต้ และจีน) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และออสเตรเลีย) ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 9.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และฮ่องกง) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวที่ร้อยละ 34.3 (ขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และออสเตรเลีย) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวที่ร้อยละ 18.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 20.7 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ตุรกี บราซิล เยอรมนี และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวดีในตลาดเกาหลีใต้ และเวียดนาม) น้ำตาลทราย หดตัวที่ร้อยละ 8.3 (หดตัวในตลาดไต้หวัน จีน เมียนมา แทนซาเนีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวดีในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 6.7 (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย ไต้หวัน มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ แต่ยังขยายตัวดีในญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม) เครื่องดื่ม หดตัวที่ร้อยละ 14.4 (หดตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวดีในตลาดจีน สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) รวม 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 1.4 (YoY)
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 (YoY) สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 1,102.8 (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 1,423.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม เมียนมา ญี่ปุ่น และเนปาล) อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 584.7 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวที่ร้อยละ 56.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง เวียดนาม ญี่ปุ่น และสิงคโปร์) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และไต้หวัน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 53.8 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น และจีน) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวที่ร้อยละ 31.3 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ จีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา แต่ยังขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 49.3 (หดตัวเกือบทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเยอรมนี) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 2.1 (หดตัวในตลาดฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเม็กซิโก แต่ยังขยายตัวดีในตลาดสหรัฐ จีน และสิงคโปร์) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 30.2 (หดตัวในตลาดเวียดนาม ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวดีในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์) รวม 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 (YoY)
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญหลายตลาดขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่น ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ และอาเซียน(5) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปตลาดที่ยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดในระดับสูง เช่น สหภาพยุโรป(15) ตะวันออกกลาง(15) และเอเชียใต้ ปรับตัวลดลง ดังนี้ 1) การส่งออกไปตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 7.7 ตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 34.6 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ขณะที่สหภาพยุโรป(15) หดตัวร้อยละ 28.7 2) การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 4.0 เนื่องจากการลดลงของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และเอเชียใต้ ร้อยละ 31.0 และ 56.1 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีน และอาเซียน(5) ขยายตัวร้อยละ 9.0 และร้อยละ 13.0 ตามลำดับ และ 3) การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวร้อยละ 28.5 โดยการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย(25) กลับมาหดตัวตัวร้อยละ 29.5 ส่วนการส่งออกไปตะวันออกกลาง(15) ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 25.3 ร้อยละ 33.7 ร้อยละ 33.5 และร้อยละ 31.8 ตามลำดับ
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 34.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวสูงของการส่งออกยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ หากหักรายการดังกล่าว การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวร้อยละ 8.5 สำหรับสินค้าสำคัญอื่นๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ข้าว และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 4.6
ตลาดจีน กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ที่ร้อยละ 9.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 1.8
ตลาดญี่ปุ่น กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 9.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 2.3
ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัวร้อยละ 28.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาป แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ข้าว มอเตอร์ไฟฟ้า และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.2
ตลาดอาเซียน(5) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 13.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อากาศยานและส่วนประกอบ ข้าว และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 7.4
ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 31.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด
แช่แข็งและแห้ง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย สินค้าปศุสัตว์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และกระดาษและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.8
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 56.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ ข้าวโพด และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 21.5
ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 33.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป อุปกรณ์กึ่งตัวนำ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 11.5
ตลาดตะวันออกกลาง(15) หดตัวร้อยละ 25.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ตู้เย็นและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ข้าว เครื่องปรับอากาศ อาหารทะเลแปรรูป เม็ดพลาสติก และเครื่องดื่ม เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 256๓ หดตัวร้อยละ 3.9
ตลาดทวีปออสเตรเลีย(25) หดตัวร้อยละ 29.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และตู้เย็นและส่วนประกอบฯ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 10.7
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 33.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้กระป๋อง แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ข้าว และเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 14.9
ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 31.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาป และน้ำตาลทราย เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 20.7
ตลาดอินเดีย หดตัวร้อยละ 61.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวร้อยละ 23.4
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563
ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ และคาดว่าจะเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง 1 – 2 ปี ซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทย ด้านสินค้าที่มีการขนส่งทางบก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่ประสบปัญหาการปิดด่าน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานการเจรจากับประเทศคู่ค้า อาทิ สปป.ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย โดยสามารถเจรจาลดอุปสรรคการส่งออกสินค้าตามแนวชายแดน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก รวมถึงสินค้าผักและผลไม้ ที่ไทยมีการส่งออกไปจีนตอนใต้โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านด้วย
แนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเผชิญอุปสรรคสำคัญด้านการขนส่งบริเวณท่าเรือที่ยังแออัด และการขนส่งทางอากาศที่หยุดชะงัก ส่งผลให้สินค้ามูลค่าสูงที่ขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับได้รับผลกระทบด้วย คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังปัญหาการระบาดลดลง โดยประเทศต่างๆ ที่เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว อาทิ จีน เยอรมนี อิตาลี และนิวซีแลนด์ ที่ขณะนี้กำลังเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และในที่สุดจะทำให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าเหล่านี้กลับมาขยายตัว เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังวิกฤติ
สำหรับ การส่งเสริมการส่งออกปี 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้เจรจากับประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอให้สนับสนุนผลไม้ไทย 9 ชนิด ผ่านกิจกรรมประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดต่างๆ โดยเฉพาะการขายตรงทางโทรทัศน์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้ง่าย นอกจากนี้ ยังได้หารือกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูง พร้อมเดินหน้าผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทย อาทิ การเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร การช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ในการผลักดันการส่งออก การเร่งรัดการเปิดด่านการค้าสำคัญที่พรมแดนติดกับไทย รวมทั้งการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเป็นช่องทางระบายสินค้าด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรรวมทั้งผู้ผลิตแปรรูปและผู้ส่งออกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถขยายการส่งออกได้ในอนาคต
……………………………………………………………………….