ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งร่างหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบหลักการของหลักเกณฑ์ที่จะให้มีการปรับหลักสูตรให้มีการวัดทักษะด้านภาษา ทักษะด้านดิจิทัล และความสามารถด้านการสอน และการให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการคัดเลือกครู ซึ่งจะทำให้ได้ครูที่มีความสามารถในการสอน มีทักษะที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา โดยได้ปรับหลักสูตรการสอบภาค ก ให้สอดคล้องกับการสอบภาค ก ของสำนักงาน กพ. การสอบภาค ข ใช้แนวการสอบเทียบเคียงการสอบตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา และการประเมิน ภาค ค ใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์เพื่อ ประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการทดสอบการปฏิบัติการสอน และให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เพิ่มเติมรายละเอียดและตรวจสอบความถูกต้องของหลักเกณฑ์และวิธีการฯ โดยรอบคอบ
ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้ดำเนินการประชุมหารือกับส่วนราชการอีกครั้งหนึ่ง และพบว่าวิธีการประเมิน ภาค ค คือ การกำหนดให้มีการประเมินภาค ค ทุกครั้งเมื่อมีตำแหน่งว่าง อาจทำให้ไม่สามารถได้ครูมาปฏิบัติการสอนได้ทันตามความต้องการของสถานศึกษา ทั้งยังเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการดำเนินการสอบ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากต้องมีการประเมินภาค ค ทุกครั้งที่มีตำแหน่งว่าง ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันให้มีการปรับปรุงสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฯ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ให้ผู้สมัครสอบแข่งขันแจ้งระดับการศึกษา และระดับชั้น ไว้ในใบสมัครสอบ เพื่อให้โอกาสในการเตรียมความพร้อมในการสอบสาธิตปฏิบัติการสอน
2. กำหนดให้ผู้ผ่านการสอบภาค ก และภาค ข ทุกคนเข้ารับการประเมินภาค ค ในคราวเดียวกัน
3. ให้มีการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เป็นบัญชีของ กศจ. โดยให้บรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ในบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เพื่อให้มีครูปฏิบัติการสอนทันทีเมื่อมีตำแหน่งว่าง
4. กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้พิจารณากำหนดคุณวุฒิในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่มีความจำเป็นหรือขาดแคลนเป็นพิเศษได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของส่วนราชการ
โดยหลักการสำคัญของวิธีการประเมิน ภาค ค ใช้วิธีการประเมินจากคุณลักษณะส่วนบุคคล (สัมภาษณ์) การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ (แฟ้มสะสมงาน เกี่ยวกับประวัติการศึกษา/ผลงานในวิชาเอกที่สำเร็จการศึกษา/การเข้าถึงชุมชนและมีจิตอาสา) และความสามารถด้านการสอนนั้น จะช่วยให้นิสิต นักศึกษาครู ได้เน้นการเรียนในภาคปฏิบัติมากกว่า เพื่อจะได้นำผลงานในภาคปฏิบัติมาใช้ในการสอบแข่งขันในตำแหน่งครูผู้ช่วยต่อไป
2. อนุมัติ การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 19/2555) โดยปกติอัตรากำลังของโรงเรียนต่าง ๆ นั้น มีทั้งอัตราที่พอดี ขาด และเกิน ซึ่งเดิมหลักเกณฑ์นี้ (ว 19/2555) กำหนดวิธีการเกลี่ยอัตรากำลังเฉพาะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไว้ 2 กรณีแล้ว ซึ่งในครั้งนี้เป็นการเพิ่มเติมกรณีการตัดโอนตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ไปกำหนดตำแหน่งเดิม และในปีนี้ คปร. ได้กำหนดเงื่อนไขการจัดสรรคืนอัตราเกษียณ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ให้เฉพาะสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน 120 คน ขึ้นไป ทำให้สถานศึกษาดังกล่าวประสบปัญหาในการจัดการศึกษาและส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนของสถานศึกษา ประกอบกับ ตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเร่งด่วนในการบริหารจัดการสถานศึกษาขนาดเล็กในการที่จะไม่บรรจุและแต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน 40 คน ลงมา เพื่อให้สามารถบริหารจัดการยุบ เลิก หรือควบรวมสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่ง ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางในการการบริหารจัดการสถานศึกษาในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกลี่ยอัตรากำลังฯ (ว 19/2555) ในส่วนของการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษาไปกำหนดเป็นตำแหน่งสายงานบริหารสถานศึกษา โดยเห็นควรให้เพิ่มเติม กรณีการตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา
ไปกำหนดเป็นตำแหน่งเดิมในสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียน 41 – 119 คน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการบริหารจัดการ โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้
1. ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จากสถานศึกษาต่าง ๆ ดังนี้
1.1 สถานศึกษาที่ยุบ รวม หรือเลิกสถานศึกษา หรือ
1.2 สถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน
2. ให้ตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สถานศึกษา ได้ทั้งตำแหน่งว่างและตำแหน่งที่มีผู้ดำรงตำแหน่ง
3. การตัดโอนให้ดำเนินการได้ภายในจังหวัดเดียวกันเท่านั้น
4. สถานศึกษาปลายทางที่รับการตัดโอน ต้องมีจำนวนนักเรียนในสถานศึกษามากกว่าสถานศึกษาต้นทาง
5. กรณีสถานศึกษาต้นทาง เป็นสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 40 คนลงมา ภายหลังตัดโอน ตำแหน่งและอัตราเงินเดือนแล้ว มิให้กำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาดังกล่าวขึ้นใหม่
3. อนุมัติ การปรับปรุงคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง ตามมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษา และสายงานนิเทศการศึกษา ซึ่งเดิม ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ว 17/2548) โดยในส่วนของสายงานบริหารสถานศึกษา ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง ว่าจะต้อง “ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือดำรงตำแหน่งครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่า” ซึ่งการใช้คำว่า “ดำรงตำแหน่ง” ดังกล่าว หมายถึง การดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน มิได้นับรวมถึงประสบการณ์การดำรงตำแหน่ง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการพิจารณาคุณสมบัติดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นและเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่ง ให้มีความครอบคลุมถึงผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานบริหารสถานศึกษา สายงานบริหารการศึกษาและสายงานนิเทศการศึกษา จึงเห็นชอบให้ปรับข้อความในส่วนของคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งของสายงานดังกล่าวในส่วนของข้อ 2 จาก “ดำรงตำแหน่ง” เป็น “ดำรงตำแหน่ง หรือ เคยดำรงตำแหน่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้”
4. เห็นชอบ รายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. เนื่องจากสำนักงาน กศน. ได้ขอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่ง ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ว 8 /2562 โดยข้อ 5 5.1 -5.8 ได้กำหนดให้ส่วนราชการเป็นผู้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือก โดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ. ซึ่งที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาในสังกัด กศน.และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความรู้ ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ สามารถพัฒนาสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารกิจการของสถานศึกษา จึงเห็นชอบรายละเอียดการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. ตามที่สำนักงาน กศน. เสนอ โดยมีรายละเอียดองค์ประกอบในการคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 ภาค ดังนี้
1. ภาค ก. ความรู้และความสามารถในการบริหารงานในหน้าที่ (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
2. ภาค ข. ประวัติ ประสบการณ์ และผลงาน (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
3. ภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่ง (คะแนนเต็ม 100 คะแนน)
ทั้งนี้ให้มีการขึ้นบัญชีผู้ผ่านการประเมินภาค ก และภาค ข เป็นบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกโดยเรียงตามลำดับผู้ที่ได้คะแนนจากมากไปหาน้อย ส่วนการประเมิน ภาค ค ให้ประเมินจากการสอบสัมภาษณ์ พิจารณาจากวิสัยทัศน์และแนวคิดในการบริหารจัดการสถานศึกษาและผลงาน
5. เห็นชอบ การทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ประชุม ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 19 (2) แห่ง พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 – 2565) ที่กำหนดให้ ก.ค.ศ. เป็นผู้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ว่าด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ตามที่ส่วนราชการเสนอ และพิจารณาเห็นว่าการกำหนดชื่อตำแหน่งพนักงานราชการ กลุ่มงาน และอัตราค่าตอบแทนของกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเพิ่มเติม ตามที่ส่วนราชการเสนอมาแล้ว เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จึงเห็นชอบการทดแทนอัตราว่าง จากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ด้วยการว่าจ้างรูปแบบอื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 31 อัตรา
6. เห็นชอบ การแต่งตั้งอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีอนุกรรมการข้าราชการในสังกัดที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ไม่ต่ำกว่าระดับต้น หรือประเภทอำนวยการ ระดับสูง หรือประเภทวิชาการ ไม่ต่ำกว่าระดับเชี่ยวชาญ ใน อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งได้พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 2 ราย คือ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และนายวุฒิศักดิ์ เหล็กคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้เสนอรายชื่อข้าราชการในสังกัดฯ เพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นชอบให้แต่งตั้ง นายศักดา เรืองเดช ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ โรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล และนายนะรงษ์ ชาวเพ็ชร ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ดังกล่าวแทน
7. เห็นชอบ การแต่งตั้งอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. สำนักสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการคัดเลือกมาบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กศน. คือ นายทวีศักดิ์ เที่ยงธรรม จึงทำให้อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ใน อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ดำเนินการสรรหาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด เพื่อเสนอเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นชอบแต่งตั้งนางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดนครราชสีมา วิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดเชี่ยวชาญ เป็นอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ดังกล่าวแทน
กลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ : ภาพ/ข่าว