จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเล็งเห็นความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่ และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไปภายหลังวิกฤตไวรัสสิ้นสุด
วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เวลา 09.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมหารือด้านมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ณ ห้องประชุมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก โดยมีผู้บริหารในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนจาก 13 สาขาวิชาชีพ สมาชิกสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุม
รมว.พิพัฒน์ เปิดเผยว่า “เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้คงอยู่ และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไปภายหลังวิกฤตไวรัสสิ้นสุด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมกีฬา ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะมาตรการและนโยบายการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูให้ครอบคลุมทุกด้านและทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตลอดจนศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬาหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยินดีที่จะเป็นผู้ประสานงาน ผลักดันและช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19”
สำหรับการประชุมวันนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เชิญผู้ประกอบการ และผู้แทนจาก 13 สาขาวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่
1) มัคคุเทศก์
2) ที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยว
3) รับขนส่งนักท่องเที่ยวทางบก
4) รับขนส่งนักท่องเที่ยวทางน้ำ
5) รับขนส่งนักท่องเที่ยวทางอากาศ
6) ธุรกิจนำเที่ยวเข้ามาในประเทศ
7) ธุรกิจนำเที่ยวไปต่างประเทศ
8) ธุรกิจนำเที่ยวภายในประเทศ
9) ส่งเสริมการประชุมจัดนิทรรศการและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
10) ด้านอาหารและเครื่องดื่มสำหรับนักท่องเที่ยว
11) นันทนาการ
12) ธุรกิจจำหน่ายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว
13) ส่งเสริมความสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศหรือระหว่างประเทศ และเชิญผู้แทนจากสมาคมที่มีความต้องการการเยียวยาจากภาครัฐเพิ่มเติม เพื่อร่วมรับฟัง ให้ข้อเสนอแนะ และหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารออมสิน
…………………………………………………………………