ตามที่ประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ไปจนถึงความพร้อมของอ่างเก็บน้ำ และอาคารชลประทานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในฤดูฝนนี้อย่างเต็มศักยภาพ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสานกลาง ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ , ขอนแก่น , มหาสารคาม , กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานชลประทานที่ 6 ปัจจุบัน (20 พ.ค. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีอยู่ 3 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,028 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่างฯรวมกัน อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 112 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯรวมกัน และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 1,037 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 72 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 4,100 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 63 นั้น สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนทั้ง 110 แห่ง พร้อมตรวจสอบความพร้อมอาคารชลประทานทั้ง 130 แห่ง รวมไปถึงสถานีสูบระบายน้ำขนาดใหญ่ อีก 7 สถานี ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังได้เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองสายหลัก คลองชลประทานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายและเก็บกักน้ำ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมทางด้านเครื่องจักรเครื่องมือรวม 257 รายการ ซึ่งบางส่วนได้เข้าไปประจำจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมแล้ว
ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ในส่วนของการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อาทิ ลำน้ำยัง ลำปาว ลำน้ำพอง ลำคันฉู และลำน้ำเสียวใหญ่ นั้น ได้ดำเนินการติดตั้งธงสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำกว่า 90 จุด ครอบคลุมลำน้ำสำคัญ ทั้ง 5 จังหวัด พร้อมกำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือหากเกิดน้ำท่วม รวมไปถึงการเร่งงานก่อสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งกั้นลำน้ำยังให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนาลุ่มน้ำยัง เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยปี 2563-2564 อีกกว่า 14 โครงการ ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีระบบการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำ โดยเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) ของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัดมาใช้ในการติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ การประสานงาน การประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้ จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าปีที่แล้ว แต่จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5 ประกอบกับปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนที่มีในอ่างเก็บน้ำต่างๆยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างเต็มศักยภาพ ขอให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำต้นทุนที่มีอยู่หากมีปริมาณเพียงพอเหมาะสม กรมชลประทาน จะสนับสนุนก็ต่อเมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเท่านั้น โดยจะเน้นกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ให้มากที่สุดในระยะต่อไป
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
20 พฤษาคม 2563