ยุคโควิด ! เปิดประชาพิจารณ์ออนไลน์ “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการประมงแห่งชาติ – ร่าง พ.ร.บ.สภาการประมงแห่งประเทศไทย” เชิญชวนแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมประมง

กรมประมงจัดทำประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนการประมงแห่งชาติ พ.ศ…. และ ร่าง พ.ร.บ.สภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. …  เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องผ่านระบบสื่อออนไลน์บนเว็บไซต์ กรมประมง https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/activity_item/3404  โดยการเปิดประชาพิจารณ์นี้จะสิ้นสุดภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ด้วย ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีดำริในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการประมงของประเทศไทย และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาการประมง พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติกองทุนประมง พ.ศ. …. โดยมีนายอรรถพร พลบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ รองอธิบดีกรมประมง เป็นรองประธานอนุกรรมการ และอนุกรรมการประกอบด้วย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย  ผู้แทนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและธุรกิจต่อเนื่องด้านการประมง จำนวน 35 ท่าน

บัดนี้ คณะอนุกรรมการยกร่างฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งได้พิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการประมงแห่งชาติ พ.ศ…. มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์ ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบอาชีพด้านการประมง ตลอดจนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปภาคการประมง ให้สามารถสร้างขีดความสามารถด้านการประมงและการแข่งขันทางการค้าทั้งจากการจับสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปสัตว์น้ำ ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกต่อไป โดย ร่าง พ.ร.บ. กองทุนฯ มีจำนวน 6 หมวด 35 มาตรา
  • ร่าง พ.ร.บ. สภาการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. … มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นองค์กรกลาง ทำหน้าที่เป็น ตัวแทนประสานผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันเพื่อเสนอความเห็นและประสานงานเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายการประมงระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาทักษะและขีดความสามารถของผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงด้วยกันเองให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอันจะนำไปสู่การพัฒนาการประมงที่ยั่งยืน โดย ร่าง พ.ร.บ. สภาการประมงฯ มีจำนวน 6 หมวด 41 มาตรา และบทเฉพาะกาล 4 มาตรา

ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 77 ซึ่งนายอลงกรณ์  พลบุตร  ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านระบบสื่อออนไลน์บนเว็บไซต์กรมประมง https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/activity_item/3404

นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่จังหวัด กรมประมงได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนของภาคการประมงในแต่ละจังหวัดอีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนกระบวนการของการทำประชาพิจารณ์แล้ว คณะอนุกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ก็จะนำข้อคิดเห็นเสนอแนะไปปรับปรุงร่างกฎหมาย และนำเสนอร่างฯ ต่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องภับภาคการประมงและแรงงานในภาคการประมง  คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อพิจารณานำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป สุดท้ายฝากย้ำ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ขอความร่วมมือให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าไปแสดงความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะกับร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อประโยชน์ของภาคการประมง โดยท่านสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ กรมประมง https://www4.fisheries.go.th/index.php/dof/activity_item/3404 หรือสแกน QR CODE นี้…รองอธิบดี กล่าว

……………………………………………..