กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชวนช่างเชื่อมรับการประเมินความรู้ความสามารถ พร้อมป้องกันรัดกุม ไม่หวั่นโควิด-19 ตั้งเป้าปี 63 จำนวน 2,500 คน
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานและความปลอดภัยในการทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ ความปลอดภัยของผู้ใช้งานและสาธารณะซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องสาขาที่อาจเป็นอันตรายจะต้องดำเนินการโดยผู้มีความรู้ความสามารถที่ผ่านการประเมินและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถซึ่งรวมถึงสาขาช่างเชื่อม จำนวน 3 สาขา ได้แก่ ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ช่างเชื่อมแม็ก และช่างเชื่อมทิก เป็นสาขาที่จะประกาศเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบอาชีพในสาขาดังกล่าวจะต้อง ผ่านการประเมินและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเช่นเดียวกับสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปี 2563 กพร. มีเป้าหมายประเมินความรู้ความสามารถในกลุ่มช่างเชื่อม จำนวน 2,500 คน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร. และ สนพ.) เชิญชวนผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขากลุ่มช่างเชื่อมเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ โดยหลักเกณฑ์ในการประเมินจะมีคะแนนรวม 100 คะแนน แบ่งออกเป็น (1) 50 คะแนนแรกมาจากความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ ทัศนคติในการทำงาน โดยพิจารณาผลผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (2) 25 คะแนนต่อมาพิจารณาจากประสบการณ์ด้านการประกอบอาชีพ เช่น การศึกษา การทำงาน การฝึกอบรม การสัมมนา เป็นต้น (3) อีก 25 คะแนนสุดท้าย พิจารณาจากคุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพหรือการทำงาน โดยการสัมภาษณ์ ซึ่งทั้ง 3 หลักเกณฑ์รวมกันจะต้องได้ 85 คะแนนขึ้นไปจึงจะผ่านการประเมิน
“ช่างเชื่อม นอกจากจะเป็นสาขาอาชีพสำคัญในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัย ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของสังคมและประชาชนในวงกว้าง จึงถือว่าเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่ผู้ปฏิบัติงานช่างเชื่อมจะต้องแสดงความภาคภูมิใจและร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ 78 แห่ง โดยศูนย์ประเมินแต่ละแห่งจะดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น เช่น ตรวจคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกาย และจัดสถานที่เพื่อให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเหมาะสม มีการทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์เป็นประจำทุกวัน มีฉากกั้นระหว่างผู้ประเมินกับผู้รับการประเมิน เป็นต้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สพร.และสนพ.ทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือสำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ 02245 1703 หรือกองสื่อสารองค์กร 0 2245 4035” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย