กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในพื้นที่ทุกจังหวัด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในพื้นที่ ร่วมกับการปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะ 7 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน สถานที่ราชการ พร้อมแนะให้ประชาชนสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ และเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ทำให้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคมของทุกปี จึงต้องมีการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในพื้นที่ทุกจังหวัดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการระบาดของโรคโควิด 19   จึงต้องมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ร่วมกับการปฎิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–13 พฤษภาคม 2563 พบผู้ป่วยแล้ว 11,938 ราย เสียชีวิต 9 ราย  โดยจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปี 2562 ถึงร้อยละ 44 แต่ยังสูงกว่าปี 2561 และ 2560 ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายได้  ทั้งนี้ จากโปรแกรมทันระบาด ในเดือนที่ผ่านมา (เมษายน 2563) พบว่า ผลสำรวจลูกน้ำยุงลายเกินร้อยละ 10 ของบ้าน โรงเรียน และศาสนสถานที่สำรวจในชุมชน และยังพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะอำเภอที่มีการระบาดต่อเนื่องเกิน 28 วัน เกือบทุกอำเภอ   มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนเกินเกณฑ์มาตรฐาน (HI > 5) ซึ่งถือว่ายังมีพาหะนำโรคในหลายพื้นที่

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด โดยขอความร่วมมือดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายเชิงรุกในพื้นที่ทุกจังหวัด โดยเฉพาะใน 7 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงเรือน โรงธรรม โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน สถานที่ราชการ ดังนี้  1.ให้ประชาชนสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตนเองทุกสัปดาห์  2.สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเจ้าหน้าที่/อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน/จิตอาสาที่ดูแลพื้นที่ ในชุมชนพื้นที่สาธารณะทุกแห่งทุกสัปดาห์ และมีผู้รับผิดชอบติดตามผลการดำเนินงานทุก 2 สัปดาห์ โดยมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น  3.ในสถานที่ที่ปิดชั่วคราว เช่น โรงเรียน โรงแรม ควรมีการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งยุงพาหะสามารถเคลื่อนที่ไปยังสถานที่อื่นได้

และ 4.ไม่จัดกิจกรรมรณรงค์ที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก  5.การดำเนินกิจกรรมของจิตอาสาต้องมีระยะห่างระหว่างบุคคล ควรลดความแออัดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ เช่น จัดสถานที่ให้กว้างขวางเพียงพอ ไม่ให้นั่งหรือยืนอยู่รวมกันอย่างเบียดเสียด กระจายมุมบริการอาหารและเครื่องดื่ม  6.จัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง กำจัดขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร หน้ากากอนามัย เศษใบไม้ เป็นต้น  7.เมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่ในหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรค 3-3-1 คือ ถ้าพบผู้ป่วยโรงพยาบาลต้องแจ้ง รพสต. ภายใน 3 ชั่วโมง สอบสวนโรคที่บ้านผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมงต่อมา และควบคุมโรคภายใน 1 วัน ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายในรัศมี 100 เมตร รอบบ้านผู้ป่วย และ 8.ให้ความรู้ สร้างความตระหนักเรื่องการป้องกันโรคผ่านสื่อโซเชียล หรือเสียงตามสาย วิทยุชุมชน

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนและทุกภาคส่วนร่วมดำเนินตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง  2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา  3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงสังเกตตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้อง รับประทานยาลดไข้ 1-2 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

**************************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค

วันที่ 18 พฤษภาคม 2563