สสส. หนุนเสริมจิตสำนึกและภูมิคุ้มกันด้านอุบัติเหตุและการพนันให้กับเด็ก มุ่งสร้างกระแสการเรียนรู้ใหม่ เน้นการฝึกทักษะให้เด็กคิดวิเคราะห์และลงมือทำ

ในแต่ปีปัจจัยเสี่ยงจากอุบติเหตุทางถนนทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของไทย เฉลี่ยปีละ 22,281 ราย และบาดเจ็บสาหัส 107,542 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 545,435 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบปัญหาการพนันในสังคมไทย ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ ตามมา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัวแตกแยก และปัญหาอาชญากรรม จากสถิติพบเด็กเล่นการพนันครั้งแรกอายุต่ำสุด 7 ปี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญของปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว จึงได้หนุนเสริมการดำเนินโครงการพัฒนาจิตสำนักเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (อุบัติเหตุทางถนนและการพนัน) หรือ โครงการอารักข์  เพื่อปลูกฝังจิตสำนักให้เด็กเล็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น ได้มีภูมิรู้และภูมิคุ้มกันในการป้องกันภัยจากอุบัติเหตุทางถนนและการพนัน

“โครงการฯ นี้ เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อเด็กและทุกฝ่ายของสังคม ทำให้เกิดกระแสใหม่ของการสร้างภูมิรู้ให้เด็กได้เกิดทัศนคติ การคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ตนเองมีความปลอดภัยทางถนนและไม่ตกเป็นเหยื่อในวังวนของการพนันทุกรูปแบบ เด็กจะมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับครูในโรงเรียนด้วยสื่อการเรียนการสอนของโครงการฯ และนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง และยังนำไปสื่อสารต่อพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนต่อไป” นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวถึงความสำคัญของโครงการ

ด้าน ดร. อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการพัฒนาจิตสำนักเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (อุบัติเหตุทางถนนและการพนัน) กล่าวถึงการพัฒนาจิตสำนักในเด็กเล็กว่า “เด็กเล็กระดับอนุบาลและประถมตอนต้น เป็นวัยที่สำคัญของการวางรากฐานการเรียนรู้เพื่อให้มีทักษะชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยตามวัย เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดี โครงการฯ ได้มีการออกแบบและพัฒนาชุดสื่อกิจกรรมอย่างเป็นระบบ เน้นการสร้างการกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับประสบการณ์จริง ใน 4 ด้าน การรับรู้ความสามารถและการกำกับตนเอง (Sensory Sensing), การรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Bonding Sensing) , การรับรู้โดยใช้หลักเหตุและผล (Rational Sensing) และการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์-วัฒนธรรมของชุมชน (Community Sensing) โดยผสมผสานกระบวนการฝึกทักษะสมองแบบ EF (Executive Function) และการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ผ่านชุดสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัย มีทั้งละครเพลง หุ่นมือ บาทบาทสมมุติ ที่จัดให้ครู พี่เลี้ยง และผู้ปกครอง รวมทั้งคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ไปกับเด็ก ๆ อย่างสนุกสนาน”

ทั้งนี้โครงการ ฯ ได้ประสานกับกลุ่มประสานงานกับกลุ่ม EXEDY AISIN GROUP นำหลักสูตร School Safety ของประเทศญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการลงพื้นที่จัดกิจกรรม 23 โรงเรียนทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ครอบคลุมทุกภูมิภาคในทุกสังกัด ทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองท้องถิ่น กระทรวงมาหดไทย และสำนักงานตำรวจจราจรแห่งชาติ ล่าสุด โครงการพัฒนาจิตสำนักเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (อุบัติเหตุทางถนนและการพนัน) ได้นำสื่อการเรียนการสอนดังกล่าวไปมอบให้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัด 45 โรงเรียน นำไปใช้ประโยชน์ โดยมีพลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้รับมอบ

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะนำสื่อการสอนพัฒนาจิตสำนักเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงของสังคมด้านอุบัติเหตุการจราจรและการพนัน ไปให้ ครู ตชด. ได้นำไปใช้กับโรงเรียนทั้ง 45 แห่ง ในสังกัดกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เป็นการนำร่อง จากนั้นจะมีการประเมินผล เพื่อขยายผลไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อกระจายไปยังครูแดร์ (D.A.R.E – Drug Abuse Resistance Education) ซึ่งเดิมเราจะให้การสอนเรื่องภัยและการต่อต้านยาเสพติดในเด็กนักเรียนอยู่แล้ว เราอาจจะเพิ่มเติมเรื่องภูมิคุ้มกัยเรื่องอบุติเหตุและการพนันเข้าไป ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชนในอนาคต” พลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าว

……………………………………………….