ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) คือ ระดับไขมันในเลือดที่มีโคเลสเตอรอล มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไตรกรีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ HDL-cholesterol (HDL-C) หรือไขมันดี น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ LDL-cholesterol (LDL-C) หรือไขมันเลวมากกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยยิ่งหากมีไขมันตัวร้ายมาก ก็ยิ่งก่อปัญหาหลอดเลือดอุดตันได้มาก ส่งผลกระทบให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดส่วนปลาย หลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน ในทางกลับกันหากยิ่งมีปริมาณไขมันตัวดีสูง ก็จะส่งผลดีกับร่างกายมากขึ้น เพราะไขมันตัวดีจะทำหน้าที่เก็บไขมันส่วนเกินจากผนังหลอดเลือดกลับไปทำลายที่ตับ
ในการักษาแผนปัจจุบันเหมือนกับกับการใช้ยาสมุนไพรในการรักษา ตรงที่ยาไม่ได้มีผลลดไขมันได้ 100% จำเป็นต้องอาศัยการควบคุมอาหารร่วมด้วยเสมอเป็นอันดับแรก คือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ของมันของทอด กะทิ เครื่องในสัตว์ หรือแม้กระทั่งขนมจุกจิก น้ำอัดลม เครื่องดื่มน้ำผลไม้ กาแฟ หากมีการใส่น้ำตาลปรุงรสในปริมาณมาก ก็จะเพิ่มพลังงานให้กับสิ่งที่เรากิน ซึ่งหากร่างกายเรามีการใช้พลังงานน้อยกว่าพลังงานจากอาหารที่ทานเข้าไป ร่างกายก็จะเก็บสะสมในรูปไขมันได้ และหมั่นอออกกำลังกาย ครั้งละ 30-40 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน และในคนที่สูบบุหรี่ พบว่าหากหยุดสูบบุหรี่ จะทำให้ไขมันชนิดดีไม่ลดลงได้ และยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจอีกด้วย ในส่วนของสมุนไพรไทยที่งานวิจัยสนับสนุนยืนยันว่า มีส่วนช่วยในการลดไขมันได้จริง มีดังนี้
ขิง
มีการศึกษาหนึ่งของต่างประเทศพบว่า การรับประทานขิงแคปซูลวันละ 3 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 45 วัน สามารถลดระดับไขมันโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ นอกจากนี้ขิงยังมีป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดได้อีกด้วย
กระเทียม
นอกจากจะลดความดันได้แล้ว ยังมีผลลดไขมันในเลือดได้ โดยมีการศึกษาพบว่า เพียงคุณทานกระเทียมวันละ 1-2 กลีบ หรือทานในรูปแบบผงกระเทียม 600-900 มิลลิกรัมต่อกรัม เป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไป จะมีผลลดไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าหากทานเป็นเวลา 16 สัปดาห์ สามารถลดไขมันโคเลสเตอรอลได้ 12% ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้ 17%
หมายเหตุ : ควรระวังการทานกระเทียมและขิงในรูปแบบสารสกัด หรือการรับประทานในปริมาณมากในผู้ป่วยที่มีการทานยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย เพราะกระเทียมและขิง อาจมีผลเพิ่มฤทธิ์ยาละลายลิ่มเลือด โดยเฉพาะยาวาร์ฟาริน
กระเจี๊ยบแดง
มีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ แอนโทไซยานิน ซึ่งพบว่ามีผลลดระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ได้ดีมาก ลดไขมันชนิดร้าย (LDL) ลดโคเลสเตอรอล อีกทั้งยังมีผลช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) โดยเห็นผลเมื่อดื่มชาชงกระเจี๊ยบวันละ 2 เวลา เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน
ตรีผลา
ตำรับสมุนไพรที่ประกอบขึ้นด้วยผลไม้สามอย่างคือ สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อม มีผลลดระดับไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยอาจทานต่อเนื่องอย่างน้อยคืนละ 1 แก้ว ต่อเนื่องทุกคืน นอกจากจะลดไขมันในเลือดได้แล้ว ตรีผลายังมีส่วนช่วยในการรักษาภาวะไขมันพอกตับอีกด้วย (fatty liver)
ดอกคำฝอย
มีสารสีเหลืองส้ม คนโบราณใช้ในการแต่งสีอาหาร โดยการนำกลีบดอกมาแช่น้ำร้อน ซึ่งสารนั้นมีชื่อว่า Carthamin และ Sufflower yellow อีกทั้งในเมล็ดดอกคำฝอยยังมีน้ำมันระเหยยาก เรียกว่าน้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิด มีผลลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันตัวร้าย (LDL) และป้องกันการอุดตันของไขมันในเลือด รวมทั้งมีผลในการป้องกันโรคหัวใจได้ด้วย โดยอาจรับประทานในรูปแบบชาชงวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ซอง ตอนเย็นหรือก่อนนอน
นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานหอมเล็กหอมใหญ่เป็นประจำ ก็จะมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ โดยกินเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 หัว