กรมควบคุมโรค เผยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในประกาศ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้ยกเลิกสาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จากการเป็นท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กล่าวว่า การดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้เกิดสถานการณ์โรคระบาดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ในระดับหนึ่ง และเริ่มเข้าสู่มาตรการผ่อนปรน   ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของทั่วโลกอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จึงได้มีคำแนะนำ ให้มีการยกเลิกประกาศ ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เคยประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง  โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศฉบับดังกล่าวในวันนี้

สำหรับการพิจารณาการประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ที่ประชุมคณะกรรมด้านวิชาการ มีมติเห็นชอบในการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐเกาหลี โดยมีเกณฑ์ในการยกเลิกประกาศ ดังนี้ 1.เป็นท้องที่ที่พบผู้ติดเชื้อที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศไม่เกิน 20 ราย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกถึงการควบคุมการระบาดของประเทศนั้นๆ ได้ และ 2.เป็นท้องที่ที่มีความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข  สำหรับประเทศจีนตั้งแต่ 23 เม.ย. เป็นต้นมา มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่น้อยกว่า 12 รายต่อวัน ยกเว้น 29 เม.ย. ที่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ 21 ราย ในประเทศ 1 ราย  ประเทศเกาหลี ตั้งแต่ 20 เม.ย.เป็นต้นมามีผู้ป่วยน้อยกว่า 14 รายต่อวัน  เพิ่งมามีเหตุการณ์ระบาดกรณีสถานบันเทิงย่านอิแทวอน โดยมีผู้ป่วย 20-30 กว่ารายต่อวัน อันเนื่องมาจากการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม  ส่วนในมาเก๊า ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่ 9 เม.ย. เป็นต้นมา และฮ่องกงก็มีผู้ป่วยรายใหม่น้อยกว่า 5 รายต่อวัน ตั้งแต่ 12 เม.ย.  สำหรับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นั้น ยังไม่ประกาศยกเลิก เนื่องจากด่านพรมแดนทางบก ยังมีการเดินทางเข้า-ออกเป็นประจำ ถึงแม้บางประเทศไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้

แพทย์หญิงวลัยรัตน์ กล่าวอีกว่า ประกาศดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป (วันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้การเดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศไทยกับประเทศทั้งสอง และ 2 เขตบริการพิเศษตามประกาศ เป็นไปโดยไม่มีการควบคุม เนื่องจากขณะนี้ช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศยังถูกกำกับด้วยมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังไม่มีสายการบินที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการขนส่งคนระหว่างประเทศดังกล่าว ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

********************************

วันที่ 15 พฤษภาคม 2563