กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำหญิงตั้งครรภ์ ควรมาฝากครรภ์โดยเร็ว (ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์) เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองและเป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากพันธุกรรมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ซึ่งหากฝากครรภ์ช้าจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติของร่างกายหรือเสียชีวิตได้ และในช่วงโควิด 19 นี้ ขอให้สถานบริการและผู้รับบริการดำเนินการตามมาตรการ ในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการดำเนินงานจัดระบบบริการป้องกัน ควบคุม ดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการเฝ้าระวังโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิด โดยใช้แบบประเมินตนเองและแบบสอบสวนโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดให้แก่พื้นที่ พร้อมทั้งลงพื้นที่สอบสวนโรค พบว่า อัตราป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดของประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2562 สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง ศรีสะเกษ ขอนแก่น พิษณุโลก ร้อยเอ็ด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชัยภูมิ และประจวบคีรีขันธ์ โดยหญิงตั้งครรภ์มารับการฝากครรภ์ช้า จะทำให้ได้รับการรักษาไม่ทันก่อนคลอด
โดยทารกที่ได้รับเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคซิฟิลิสจะมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ ส่วนทารกที่เกิดมีชีพ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี สามารถพบอาการ ได้แก่ ผื่นลอกที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ซีด เหลือง ตับม้ามโต กระดูกผิดปกติ ในบางรายอาจพบการติดเชื้อในระบบประสาทร่วมด้วย หากพบอาการ ได้แก่ ตาบอด หูหนวก ดั้งจมูกยุบ ฟันแท้มีลักษณะผิดปกติและปากแหว่ง ซึ่งมีความผิดปกติของกระดูกและข้อทำให้เกิดรูปหน้าที่ผิดปกติ ตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไป มักเป็นอาการผิดปกติที่คงอยู่ตลอดชีวิต ดังนั้นหากพบว่าทารกที่คลอดแล้วป่วยเป็นโรคดังกล่าว ต้องได้รับการดูแลรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาที่ทันสมัย มียารักษาและสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรเข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อหาเชื้อพร้อมคู่ และดูแลรักษาโดยเร็ว หลักการรักษาจะมีการติดตาม เพื่อดูระดับผลเลือดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้พัฒนาหลักสูตรการให้คำปรึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปให้ความรู้และแนะนำผู้มารับบริการ คือ การเฝ้าระวังแหล่งแพร่โรค การเฝ้าระวังหนองในดื้อยา และระบบติดตามการคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประชากรกลุ่มเสี่ยง พร้อมพัฒนาคุณภาพบริการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้เป็นไปตามแนวทางการดูแล รักษาป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงขยายการครอบคลุมของบริการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด อย่างน้อย 1 โรงพยาบาลต่อ 1 จังหวัด ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายบริการ เช่น ร้านขายยา คลินิก โรงพยาบาลเอกชน และพัฒนาแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ได้ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางและนำข้อมูลไปปรับใช้ในอนาคตต่อไปด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากพันธุกรรมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด เมื่อทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการฝากครรภ์โดยเร็ว (ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์) โดยจะได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ 2 ครั้ง คือ ตั้งแต่ที่ฝากครรภ์ครั้งแรก และ ระหว่างอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ หากตรวจพบจะได้รักษาตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยลดการถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หากทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปฝากครรภ์โดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันสถานบริการต่างๆ ได้ปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการป้องกันโรคโควิด 19 เช่น จัดให้มีการคัดกรองผู้มารับบริการ ทำความสะอาดสถานที่ก่อนการให้บริการ จัดช่วงเวลาการให้บริการ จำนวนผู้มารับบริการ และจัดสถานที่เพื่อลดความแออัดของการมารวมตัวกัน ที่สำคัญแนะนำให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้มารับบริการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และยึดหลักการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชน ให้ความสำคัญกับการมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย ตระหนักถึงการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตามแนวคิด “SEX รอบคอบตอบ OK” ดังนี้ 1.Say No ให้เป็น Say Yes ให้ถูก 2.Start Condom Safe Your SEX 3.รักต่อโรคไม่ติดต้องคิดป้องกัน ซึ่งสามารถรับถุงยางอนามัยได้ฟรี ผ่านสถานบริการของรัฐและหน่วยงานสังกัดกรมควบคุมโรค และร่วมตรวจสุขภาพทางเพศให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากต้องการคำปรึกษา สามารถสอบถามเพิ่มได้ที่ facebook fanpage : Bangrak STIs Center (โรงพยาบาลบางรัก) และ Safe SEX Story หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
………………………………………….
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
วันที่ 15 พฤษภาคม 2563