กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แจงการออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจตนาลดความเดือดร้อนนายจ้างลูกจ้างจากข้อพิพาทแรงงานช่วงสถานการณ์โควิด -19 หากนายจ้างลูกจ้างมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นผู้ชี้ขาด
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึงการออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และห้ามนายจ้างปิดงานหรือหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า เนื่องจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ได้กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิปิดงานและลูกจ้างมีสิทธินัดหยุดงานหากมีข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากทั้งสองฝ่ายใช้สิทธิดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อทั้งการประกอบการของนายจ้าง และมีผลกระทบต่อลูกจ้างที่ต้องขาดรายได้ อีกทั้งการรวมตัวกัน เพื่อหยุดงานอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่เป็นไปตามมาตรการการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ออกตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการหยุดกิจการเพราะเหตุจำเป็นซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่ใช่การปิดงานหรือนัดหยุดงานตามประกาศนี้
อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า หากที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดขึ้น นายจ้าง สหภาพแรงงานหรือลูกจ้าง สามารถให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีตามพระราชบัญญัติแรงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ กรณีที่มีการปิดงานหรือนัดหยุดงานอยู่ก่อนวันที่มีประกาศนี้ใช้บังคับ ให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้ลูกจ้างที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงาน สำหรับระยะใช้บังคับของประกาศดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 จนกว่าจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
………………………………………