ไทยอวดศักยภาพอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ครองแชมป์ผู้ส่งออกเบอร์ 1 อาเซียน ทำยอดไตรมาสแรกปี 63 เกือบ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศย้ำ FTA และ ITA ช่วยดันยอดส่งออกและเพิ่มการจ้างงานสาขาอิเล็กทรอนิกส์ได้จริง แนะผู้ประกอบการเร่งใช้ประโยชน์จากความตกลง พร้อมศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและขยายการส่งออกในตลาดโลกได้ โดยในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อันดับที่ 6 ของโลก รองจากจีน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ เม็กซิโก และฮ่องกง รวมถึงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน
นางอรมน กล่าวว่า จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่าไทยส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มูลค่าสูงถึง 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 37 ฮ่องกง สัดส่วนร้อยละ 16 อาเซียน สัดส่วนร้อยละ 14 สหภาพยุโรป สัดส่วนร้อยละ 14 และจีน สัดส่วนร้อยละ 11 เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่ามูลค่าส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ขยายตัวร้อยละ 14 และหากจำแนกรายสินค้า พบว่า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่ม (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 75) ขยายตัวถึงร้อยละ 23 มีมูลค่าการส่งออก 2,960 ล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าไทยเป็นผู้ส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับที่ 2 ของโลก รองจากจีน อีกด้วย
นางอรมน เสริมว่า การเปิดเสรีทางการค้าถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของไทยเติบโต โดยปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับ 18 ประเทศ ได้แต้มต่อไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า รวมถึงได้เป็นภาคีในความตกลงว่าด้วยสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement: ITA) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้ได้ประโยชน์จากการยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าและค่าธรรมเนียม ในสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ ไทยและสมาชิก WTO กว่า 50 ประเทศ ยังได้จัดทำความตกลงขยายขอบเขตสินค้า หรือ ITA Expansion ไปยังสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำอีก 201 รายการ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ ส่วนประกอบวงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เสียภาษีนำเข้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต อีกด้วย โดยปัจจุบันไทยมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะสมในสาขาการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ ถึง 18,175 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการจ้างงานในสาขาอิเล็กทรอนิกส์กว่า 3 แสนคน
“ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและเบา เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรวางแนวทางปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก” นางอรมน กล่าวทิ้งท้าย
———————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
15 พฤษภาคม 2563