อย. – บช.ปส. เปิดผลงาน “ปฏิบัติการสยบไพรี 63/10” กวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติดทางออนไลน์ มูลค่าของกลางกว่า 30 ล้านบาท

อย. – บช.ปส. เปิดผลงาน “ปฏิบัติการสยบไพรี 63/10” กวาดล้างขบวนการลักลอบขาย โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์ 50 จุดทั่วประเทศ เผยล่อซื้อเพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงไปยังผู้กระทำความผิดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 62 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่าของกลางที่ อย. ร่วมเข้าตรวจกว่า 30 ล้านบาท เตือนประชาชนอย่าร่วมมือกับผู้กระทำความผิดฉวยโอกาสช่วงสถานการณ์โควิด-19 ลักลอบซื้อขายวัตถุเสพติดและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย นอกจากจะถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกันแล้ว ยังเสี่ยงได้รับของไม่มีคุณภาพ อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ พลตำรวจโทวิสนุ ปราสาททองโอสถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นำโดยพลตำรวจโท ชินภัทร สารสิน ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเปิดผลงานปฏิบัติการสยบไพรี 63/10 ตรวจค้น 50 จุดทั่วประเทศ กวาดล้างขบวนการลักลอบขาย โฆษณายาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทางสื่อออนไลน์ ทั้งไลน์ อินสตาแกรม เฟสบุ๊ค ขานรับนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการปราบปรามยาเสพติดและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดย อย. ร่วมลงพื้นที่เข้าตรวจค้นแหล่งเก็บยาและสถานที่จัดส่งสินค้าแหล่งใหญ่ 4 จุด ย่านจรัญสนิทวงศ์ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดและพบของกลางเป็นจำนวนมาก อาทิ

1. ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ได้แก่ โคคาอีน (Cocaine) 9 กรัม
2. ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ กัญชาแห้ง 3 กิโลกรัม กัญชาไฟฟ้าพร้อมสูบ 900 หลอด น้ำมันกัญชาแคปซูล 100 แคปซูล ใบกระท่อมสด 1 กิโลกรัม และเยลลี่กัญชา CBD 86 ซอง
3. วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ได้แก่ โคลนาซีแพม (Clonazepam) 30,000 เม็ด
4. ยาแผนปัจจุบัน ได้แก่ ทรามาดอล (Tramadol) 1,000,000 เม็ด และยาน้ำแก้ไอ 4,000 ขวด
5. ผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เยลลี่ไม่มีฉลาก 3 ถุง และบราวนี่ 500 กรัม
6. โรงเรือนปลูกกัญชาภายในอาคาร 1 ชุด

รวมมูลค่าของกลางกว่า 30 ล้านบาท

โดยเจ้าหน้าที่ อย. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ บช. บส. ติดตามผู้กระทำผิดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน จนพบกลุ่มไลน์ที่มีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดให้โทษ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งในแต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 300 คน และยังพบความเชื่อมโยงกับร้านขายยา “ร้านยาหวานขม” ซึ่งผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันในร้านดังกล่าวต่อมาทราบชื่อคือ นายเกาะเพชร จุฬารักษ์ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกลุ่มและขายโดยใช้ชื่อ RANYAWANKHOM (ร้านยาหวานขม) จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มไลน์นี้มีพฤติการณ์ลักลอบซื้อขายยาเสพติดทางสังคมออนไลน์ โดยส่งมอบยาเสพติดผ่านทางไปรษณีย์หรือระบบโลจิสติกส์ และโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ยากต่อการเฝ้าระวัง ติดตามและขยายผลจับกุม ที่ผ่านมาเคยล่อซื้อได้ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาแผนปัจจุบัน จนเจ้าหน้าที่สามารถสืบหาข้อมูลและหลักฐานการกระทำความผิดแน่ชัดนำมาสู่การจับกุมในครั้งนี้ ทั้งนี้ การกระทำความผิดดังกล่าวมีความผิดตาม พรบ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 พรบ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 พรบ. ยา พ.ศ. 2510 และ พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท

รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอย้ำเตือนประชาชนอย่าร่วมมือกับผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ฉวยโอกาสลักลอบซื้อขายยาเสพติดทางออนไลน์ เพราะนอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ขายแล้ว ยังอาจได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หากบริโภคเกินขนาดหรือมีโรคประจำตัวแทรกซ้อนอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับเภสัชกรที่เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านขายยา หากพบว่า มีการเปิดร้านขายยาบังหน้าเพื่อสั่งวัตถุเสพติดให้ผู้กระทำความผิดลักลอบนำยาไปขายออกนอกระบบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการดังกล่าวจะถูกดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด และ อย. จะส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาจริยธรรมต่อไป

***************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 15 พฤษภาคม 2563 แถลงข่าว 12 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ข้อมูล https://bit.ly/2LtB0zn