บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) 925 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2562 (QoQ) และเพิ่มขึ้น 8% (YoY) จากการที่โครงการ IPP ทั้ง 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหนองแซง (GNS) และ โรงไฟฟ้าอุทัย (GUT) รวม 3,200 เมกะวัตต์ ได้รับค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) มากขึ้น ประกอบกับกลุ่ม SPP ทั้งหมดสามารถขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติลดต่ำลง จาก 282 บาท / ล้านบีทียู ในไตรมาส 1 ปี 2562 เป็น 267 บาท / ล้านบีทียู ในไตรมาส 1 ปี 2563 ในขณะที่ค่า Ft เท่าเดิม ทำให้บริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น
นอกจากนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2563 ยังมีการรับรู้รายได้เต็มไตรมาสจากการเปิดดำเนินการของ SPP 12 โครงการ เมื่อเทียบกับ 10 โครงการในไตรมาส 1 ปี 2562 และจากการรับรู้เต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนาม จำนวน 2 โครงการ อีกทั้ง รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ จะนะ กรีน ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity MW) เท่ากับ 2,726 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 249 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับ 2,477 เมกะวัตต์ในไตรมาส 1 ปี 2562
ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างมีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงาน โดย IPP ทั้ง 2 โครงการ ได้แก่โรงไฟฟ้าศรีราชา (GSRC) และโรงไฟฟ้าปลวกแดง (GPD) รวม 5,300 เมกะวัตต์ มีกำหนดที่จะเปิดดำเนินการตามแผนระหว่างปี 2564 ถึง 2567 โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ซึ่งเป็น IPP ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 และมีกำหนดเปิดดำเนินการตามแผนในปี 2567 และ 2568 โครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ซึ่งเป็น IPP ขนาด 540 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 และมีกำหนดเปิดดำเนินการตามแผนในปี 2570 โดยหลังจากที่ทุกโครงการเปิดดำเนินการแล้ว กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,781 เมกะวัตต์
ส่วนการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ด้านโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) คาดว่าจะมีการลงนามสัญญา PPP ในเดือนมิถุนายน 2563
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจาก COVID-19 ในภาพรวมทั้งปี บริษัทฯ คาดว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ประมาณ 90% ขายให้ กฟผ. มีเพียงแค่ 10% ที่ขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรม โดยในไตรมาส 1 ปี 2563 ลูกค้าอุตสาหกรรมโดยรวมยังไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และบริษัทฯ ยังมีรายได้จากการไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อนอีกด้วย นอกจากนี้ ลูกค้าอุตสาหกรรมยังมีการกระจายตัวอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทฯ ยังมีการขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม เฟส 1 ขนาด 30 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม ได้มีการเลื่อนกำหนดการเปิดดำเนินการจากสิ้นปี 2563 ไปเป็นพฤษภาคม 2564 เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องการเดินทางของผู้รับเหมาจากประเทศจีนช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทั้งนี้โครงการยังคงได้รับค่าไฟฟ้าในอัตรา 9.8 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ – ชั่วโมง (c/kWh) ตามแผน
บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะใช้กระแสเงินสด รวมถึงการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือการออกหุ้นกู้ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจดังกล่าว โดยมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ประมาณ 10,000 ล้านบาทกลางปีนี้ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของบริษัทฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ 1.51 เท่า