ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู / ภาคีเครือข่าย สปสช.–สสส.–พอช.–ม.มหิดล– กทม.– สธ. ผนึกกำลังหนุนคนไร้บ้านสู้โควิด-19 จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจด้านสุขภาพและการตรวจคัดกรองสุขภาพ-ตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู ขณะที่คนไร้บ้านอยากให้สถานการณ์โควิดและเคอร์ฟิวส์ยุติโดยเร็วเพื่อจะได้ออกไปทำมาหากินได้ตามปกติ
วันที่ 14 พฤษภาคม ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. ที่ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจด้านสุขภาพและการตรวจคัดกรองสุขภาพ-ตรวจเชื้อโควิด-19 สำหรับกลุ่มคนไร้บ้านในสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม เช่น ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นางภรณี ภู่ประเสริฐ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เจ้าหน้าที่จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม สำนักอนามัย กทม. โดยมีคนไร้บ้านศูนย์สุวิทย์ วัดหนู คนไร้บ้านจากศูนย์รังสิต และชาวชุมชนในย่านใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 120 คน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยในวันนี้ได้นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจคัดกรองพี่น้องประชาชนกลุ่มเสี่ยง แม้ว่าผลการตรวจอาจจะออกมาเป็นลบ คือไม่มีผู้ที่ติดเชื้อโควิด แต่พี่น้องก็จะต้องระมัดระวัง ต้องหมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และต้องทำตัวให้ห่างกันเอาไว้ก่อน แม้ว่าในช่วงนี้จะไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม แต่เพื่อความปลอดภัย ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันป้องกัน ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพอนามัย จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งตนคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี มีเครือข่าย อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ที่ทำงานเชิงลึกอยู่ทั่วประเทศ จึงทำให้ควบคุมไวรัสโควิดได้ดี ส่วนวันนี้ พอช.ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่ทำงานกับชาวบ้านได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีตรวจวัดความเสี่ยงของกลุ่มคนไร้บ้าน และขอนำความปรารถนาดีจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มาส่งมอบให้แก่พี่น้องคนไร้บ้านที่นี่
นางภรณี ภู่ประเสริฐ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ทำงานเรื่องคนไร้บ้านมานานหลายปี มีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านได้ตั้งหลัก ยืนหยัด และคืนสู่สังคมได้ ส่วนวันนี้ สสส.ได้นำถุงผ้าบรรจุเวชภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ คู่มือดูแลสุขภาพ ฯลฯ จำนวน 1,600 ถุงมามอบให้แก่พี่น้องคนไร้บ้าน
ศจ. ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วันนี้นำเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองไวรัสโควิด-19 ให้แก่กลุ่มคนไร้บ้านประมาณ 110 คน โดยการเก็บสารคัดหลั่งในร่างกายไปตรวจหาเชื้อตามหลักการขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ยังเจาะเลือดตรวจด้วย เพื่อดูการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชนหรือยัง โดยผลจากการตรวจคัดกรองจะทราบในวันพรุ่งนี้ (15 พฤษภาคม) ซึ่งตนหวังว่าผลตรวจจะออกมาเป็นลบ คือไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด
“วันนี้เรารวมพลังร่วมกันระหว่าง สปสช. พอช. สสส. มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตรวจคัดกรองโรคและดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งหากเรารวมพลังกันแบบวันนี้ได้ เราจะปลอดภัยจากโควิดได้เร็ววัน” ศจ.ดร.ฉัตรเฉลิมกล่าว
นายธเนศ จรโณทัย ผู้แทนศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู บอกว่า ‘ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู’ (สุวิทย์ วัดหนู เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนจน โดยเฉพาะคนจนเมือง คนไร้บ้าน เสียชีวิตในปี 2550) เกิดจากการรวมพลังของกลุ่มคนไร้บ้าน ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ผลักดันให้การรถไฟแห่งประเทศไทยให้เช่าที่ดินแปลงนี้ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เพื่อสร้างเป็นศูนย์พักพิงของคนไร้บ้าน โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2551 และมีการปรับปรุงใหม่ในปี 2559 ปัจจุบันรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 80 คน
“พวกเราได้สร้างกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน เช่น ห้ามดื่มเหล้า ห้ามยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ห้ามทะเลาะวิวาท ลักขโมย ฯลฯ ช่วยกันออกค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนละ 50 บาท และค่าบำรุงห้องเดือนละ 600-1,000 บาท ยกเว้นคนที่ไม่มีรายได้ อยู่กันแบบพี่แบบน้อง ช่วยกันปลูกผักสวนครัวเอามาทำอาหาร พอเช้าก็จะแยกย้ายกันไปทำงาน บางคนจะเก็บหาของเก่าตามถังขยะ เพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุน คนที่แข็งแรงหรือมีฝีมือทางช่างก็จะไปรับจ้าง เป็นกรรมกรก่อสร้าง หรือรับจ้างทั่วไป บางคนมีฝีมือการทำเครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล เพาะพันธุ์ไม้ประดับขาย แต่ช่วงนี้ติดปัญหาเรื่องโควิด ทำให้พี่น้องมีงานทำน้อยลง ออกไปเก็บของเก่าช่วงเคอร์ฟิวส์ไม่ได้ ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายค่าบำรุง เราก็ให้ค้างจ่ายเอาไว้ก่อน” ผู้แทนคนไร้บ้านบอก
ส่วนการตรวจคัดกรองโรคโควิดในวันนี้ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่พี่น้องคนไร้บ้านจะได้ตรวจคัดกรอง เพราะหากจะให้ไปตรวจเอง พี่น้องคนไร้บ้านคงจะไม่มีโอกาส เพราะค่าตรวจแพงมาก คนไร้บ้านไม่มีเงินไปตรวจแน่ๆ และอยากให้เรื่องโควิดและการประกาศเคอร์ฟิวส์จบลงเร็วๆ คนไร้บ้านจะได้ออกไปทำมาหากินได้ตามปกติ โดยเฉพาะการออกเก็บของเก่าในตอนกลางคืน เพราะเป็นรายได้หลัก
‘จินตนา มีชิน’ อายุ 48 ปี สมาชิกรุ่นแรกของศูนย์ฯ บอกว่า ปัจจุบันทำอาหารตามสั่งขาย (ได้รับการสนับสนุนเรื่องอาชีพจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ-สสส.) ตั้งร้านอยู่ที่หน้าศูนย์คนไร้บ้าน นอกจากนี้ยังช่วยงานในศูนย์ฯ เช่น ทำครัวกลางแจกจ่ายอาหารให้คนไร้บ้านในศูนย์ 80 คน วันละ 2 มื้อ และแบ่งอาหารให้ ‘ทีมเดินกาแฟ’ ไปแจกจ่ายให้คนไร้บ้านย่านบางกอกน้อย-ตลิ่งชันวันละ 1 มื้อ ประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกล่อง ข้าวผัดกะเพรา เป็นน้ำใจที่คนไร้บ้านมีให้แก่กัน โดยได้รับบริจาคข้าวสาร อาหารสด-แห้ง จากห้างร้านบริษัทเอกชน พี่น้องเครือข่ายชุมชนกลุ่ม และองค์กรต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่และประธานบอร์ด พอช. สมทบเงินเพื่อจัดทำครัวกลางรวมเป็นเงินกว่า 20,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากคนไร้บ้านที่ศูนย์สุวิทย์ วัดหนู แห่งนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านที่ต่างจังหวัดอีก 2 แห่ง คือ ‘บ้านเตื่อมฝัน’ จ.เชียงใหม่ และ ‘บ้านโฮมแสนสุข’ จ.ขอนแก่น รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณแห่งละ 55-60 คน และศูนย์ฯ ที่จังหวัดปทุมธานีกำลังก่อสร้าง รองรับได้ประมาณ 100 คน (ตอนนี้มีคนไร้บ้านปลูกเพิงอยู่ชั่วคราวประมาณ 30 คน) โดยได้รับงบสนับสนุนการจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยคนไร้บ้านจะมีระบบบริหารจัดการและดูแลกันเอง ต่างจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่มีระเบียบบริหารแบบราชการ
*****************