นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กล่าวว่า ภายใต้นโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ตั้งเป้าหมายปฏิรูปการบริหารและการบริการของกระทรวงเกษตรฯ และภาคเกษตรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเกษตร 4.0 ให้เกิดเป็นรูปธรรมในปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ขึ้น ตามนโยบายส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกเกษตรอาหารที่สำคัญ อันดับ 1 ใน 5 ของโลก และเตรียมแผนรองรับภาวะขาดแรงงานภาคเกษตร เพราะกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้สูงวัยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของจำนวนประชากร โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายด้านต่าง ๆ เช่น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E – commerce และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness)
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรมีปัญหาทั้งตลาดในและต่างประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่ดูแลด้านสินค้าเกษตร โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ที่มีนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เป็นประธานฯ จะดำเนินการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่การวางแผนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค สนับสนุนการดำเนินงานธุรกิจเกษตรด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและนวัตกรรม และพัฒนาบุคลาการด้านธุรกิจเกษตร เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของไทยในภาวะวิกฤติเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย
ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ในการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ได้หารือแนวทางการช่วยเหลือร่วมกันมาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร ได้เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการค้าผลไม้จังหวัดจันทบุรี เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค แนวทางการกระจายผลไม้ในจังหวัดจันทบุรีไปตลาดต่างประเทศ และในประเทศป้องกันแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดราคาตกต่ำ เพื่อเป็นการช่วยกระจายผลผลิตให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากในขณะนี้เกษตรกร จ.จันทบุรีกำลังประสบปัญหาเรื่องสินค้าเกษตรออกมาล้นตลาดโดยเฉพาะมังคุด จึงใช้กลไกลของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรประสานงานกันทั้งภายในกระทรวงเกษตรและภายในกระทรวงพาณิชย์เพื่อหามาตรการช่วยชาวสวน โดยกระทรวงเกษตรฯ จะช่วยชี้เป้าเกษตรกร ส่วนกระทรวงพาณิชย์ช่วยหาทางระบายสินค้า อาทิ เปิดช่องทางบน Platform ออนไลน์ เช่น Lasada Shopee ฯลฯ ที่ได้ร่วมโครงการออนไลน์ช่วยประชาชนชน ให้เกษตรกรได้ขายผลไม้ที่ประชาชนพรีออเดอร์มา โดยรับสินค้าได้ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำตามสะดวก โดย Platform เหล่านี้จะไม่คิดค่าบริการในการโพสต์สินค้าบนและยังช่วยโปรโมท banner เป็นหลัก นอกจากนี้ให้สหกรณ์ทั่วประเทศช่วยซื้อและกระจายสินค้า
“กระทรวงพาณิชย์ได้ทำกล่องหลายแสนใบ ซึ่งจะช่วยเรื่องการค้าออนไลน์ โดยถูกส่งไปทุกชุมชนที่มีเกษตรกร เบื้องต้นได้จัดสรรไปแล้วเกือบ 50,000 กล่องไปที่ จ.จันทบุรี โดยทางพาณิย์จังหวัดได้ประสานกับเกษตรจังหวัด และให้กับตัวแทนของชุมชนการเกษตรประมาณ 20 กว่าชุมชน ที่จะมารับกล่องใบนี้ โดยทางคณะอนุกรรมการธุรกิจการเกษตรเราเล็งเห็นถึงวิกฤติโควิดของชวนสวน เกษตรกรหาตลาดต่างประเทศยาก ในประเทศจึงต้องช่วยกันบริโภคมากขึ้น ค้าขายมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จึงจะรับซื้อสินค้าเกษตรแล้วมาใส่ในถุงยังชีพชุมชน ตลอดจนไปรับซื้อสินค้าชุมชนอื่นๆ ที่มีสินค้าเกษตรแปรรูป ทั้งหมดนี้เป็นการขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการธุรกิจที่ต้องการสร้างรายได้เพิ่มให้พี่น้องเกษตรกรธุรกิจในยุคใหม่ที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรต่อไป” นายปริญญ์ กล่าว