วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการค้าออนไลน์สู่ตลาดโลกหลักสูตร “ Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ถ.รัชดาภิเษก)
โดยไฮไลน์งานสัมมนานี้มีช่วงที่นายนายจุรินทร์ได้ร่วมพูดคุยกับเกษตรกรผู้เข้ารับการอบรมออนไลน์ จากภูมิภาคต่างๆอาทิ นายสมภพ คูนาบุตร จากจังหวัดร้อยเอ็ดผู้ผลิตข้าวพองอบกรอบรสลาบร้อยเอ็ด ซึ่งนายจุรินทร์ ร่วมชื่นชมว่าเป็นเกษตรนวัตกรรมซึ่งตรงกับสิ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และทำให้มีมูลค่าทางการค้าสูงขึ้น นางณัฐนิช กิจยานุรักษ์ จากจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิตสินค้าเมล่อนกรอบโดยใช้นวัตกรรมสูญญากาศผลิตร่วมกับเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงมากกว่า 10 ฟาร์ม และนายชัยยศ จันทร์ทองสา จากจังหวัดขอนแก่นผู้ผลิตข้าวฮางงอกผสมธัญพืชตรากระติ๊บโต ซึ่งต้องการเจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพวีแกนและมังสวิรัติ และมีบรรยากาศแบบเสียงไก่ขันแทรกเข้ามาในระหว่างพูดคุยสอบถามซึ่งเจ้าของผลิตยี่ห้อกระติ๊บโตก็อธิบายระหว่างใช้กระด้งผัดข้าวสารไปด้วยเต็มไปด้วยรอยยิ้มอย่างเป็นกันเอง และนายจุรินทร์ตอกย้ำความสำคัญของการตลาดและต้องการสร้างทัพหน้าที่ทำหน้าที่เซลล์แมนออนไลน์บุกตลาดออนไลน์โลกให้สำเร็จ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงแรกนายจุรินทร์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า งานสัมมนามิติใหม่ใน รูปแบบการสัมมนาออนไลน์ ภายใต้โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการค้าออนไลน์สู่ ตลาดโลกหลักสูตร“Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” ที่จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในวันนี้โดยโครงการนี้เกิดขึ้นในหลักคิดเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ที่ต่อไปนี้จะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ จะแยกส่วนการทำงานเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เพราะทั้งสองกระทรวงนี้ทั้งการผลิตและการตลาดนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน ถ้ามีแต่ภาคการผลิต แต่ไม่มีภาคการตลาดการผลิตก็จะประสบปัญหาเพราะผลิตแล้วไม่ทราบว่าจะเอาไประบายที่ไหนด้วยวิธีไหนอย่างไร ถ้ามีแต่การตลาดขายได้แต่ไม่มีของจะขายก็ไม่ทราบว่าจะเอาไปขายที่ไหน จึงจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปคือเปลี่ยนเข้าสู่ยุค New Normal ทางเศรษฐกิจ New Normal เศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซหรือการค้าออนไลน์ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นและจะทวีความสำคัญ จนกระทั่งจะกลายเป็น New Normal ทางเศรษฐกิจที่ทุกคนให้การยอมรับ โดยเฉพาะในช่วงที่เราประสบกับภัยโควิดการจัดการสัมมนาอบรมออนไลน์เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยระบบอีคอมเมิร์ซถือระบบออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นอย่างยิ่งและการมุ่งเน้นในเรื่องสินค้าทางการเกษตรเพราะสินค้าทางการเกษตรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวเลขการส่งออกของประเทศและพบว่าพื้นที่ถึงร้อยละ 40 ของประเทศเป็นพื้นที่ทางการเกษตร มีเกษตรกรที่ประกอบอาชีพนี้ถึงประมาณ 10 ล้านคน
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการในเรื่องของการตลาดเพื่อระบายพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด โดยเฉพาะการจัดโครงการระบายผลไม้ซึ่งช่วงนี้กำลังเป็นช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดหลายชนิดด้วยกันและที่ผ่านมาเราได้มีการดำเนินการตั้งเป้าหมายที่มีความชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์ที่ทำหน้าที่ทางการตลาด จะเข้าไปช่วยเกษตรกรในการทำให้ผลไม้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ และจะใช้กลไกรูปแบบการขายทั้งการขายแบบออฟไลน์ และออนไลน์ สำหรับตลาดในประเทศคือการระบายผลไม้ผ่านตลาดไท สำหรับแบบออฟไลน์ที่เป็นค่าส่งทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งตามห้างสรรพสินค้าต่างๆที่ในแผนกซุปเปอร์มาร์เก็ตยังสามารถขายผลไม้ให้กับเกษตรกรได้โดยในส่วนของตลาดออนไลน์นั้นเรามุ่งเน้นทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศไม่กี่วันที่ผ่านมาได้เปิดโครงการสำหรับการระบายผลไม้คือ Thailand Fruits Golden Months คือ การส่งเสริมการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศในช่วง 2 เดือนคือ 2 เดือนทองสำหรับการบริโภคผลไม้ของไทยคุณภาพในราคาพิเศษ สำหรับการขายในประเทศออนไลน์มีแพลตฟอร์มชั้นนำของไทยหลายแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนพลผลไม้ได้ขายผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ Thailandpostmart, Shopee, Lazada, JD Central, Jatujakmall, Cloudmall, The Hub Thailand และ Octorocket.asia ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดําเนินการแล้ว
สําหรับด้านตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งส่งเสริมการ ส่งออกผลไม้ไทยเชิงรุกผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการร่วมมือกับแพล็ตฟอร์มระดับ โลก หลายแพลตฟอร์มด้วยกันได้แก่ Tmall (จีน), Bigbasket (อินเดีย), Khaleang.com (กัมพูชา) , Aeon (ญี่ปุ่น) , Amazon (สิงคโปร์และสหรัฐฯ) และ Lotte (เกาหลีใต้) เป็นต้น รวมทั้ง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์กับเว็บไซต์พันธมิตรในตลาดอาเซียน จีน และยุโรป และเพิ่มกิจกรรมเจรจาธุรกิจผ่านทางออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้มีการเจรจากับผู้นําเข้ามะม่วงจากเกาหลี โดยนำเข้าผ่านการเจรจาออนไลน์แล้วได้ 3,200 ตัน มูลค่าถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
“การจัดงานสัมมนาออนไลน์วันนี้มีคนเข้าร่วมถึง 200 คนถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีถือว่าเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับการค้าออนไลน์ซึ่งสอดคล้องกับ New Normal ทางการค้ายุคใหม่ของประเทศและของโลก จึงขอแสดงความยินดีและหวังว่าการจัดงานสัมมนาครั้งนี้จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายช่วยให้เราสามารถสร้างทัพหน้าทางการค้าออนไลน์ ให้เกิดขึ้นได้อีกอย่างน้อย 200 คนที่จะไปบุกตลาดโลกผ่านระบบออนไลน์เพื่อขายสินค้าทางการเกษตรนำรายได้ให้กับประเทศและจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกเป็นทีมเซลล์แมนที่มีศักยภาพให้กับประเทศไทยในอนาคต” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว