การพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 ต้องใส่ใจ “ผู้ป่วยปลอดภัย พยาบาลปลอดภัย”

กระทรวงสาธารณสุข จัดพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เหมาะสมกับความรุนแรงของอาการผู้ป่วย/ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด 19 เฉพาะสถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันรักษาผู้ป่วย 214 ราย หายกลับบ้านแล้ว 210 ราย ไม่มีพยาบาลติดเชื้อแม้แต่รายเดียว

วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.ธีรพร สถิรอังกูร ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ด้านการพยาบาล กล่าวว่า วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันพยาบาลสากล และปีนี้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นปีของ “พยาบาลและผดุงครรภ์” การพยาบาลเป็นศาสตร์การดูแลผู้ป่วยบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยี ความเมตตา สัมพันธ์อันดี และอยู่กับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในสถานการณ์โรคโควิด 19 จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่พยาบาลทุกคนยังคงทุ่มเททำงานในทุกจุดของสังคม ทั้งในโรงพยาบาลและในชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานความร่วมมือของพยาบาลในภาวะการติดเชื้อโควิด 19 เป็นแกนกลางประสานความร่วมมือและให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลทุกระดับในการบริหารจัดการการบริการพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ภาพรวมประเทศ

สำหรับการจัดพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย/ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด 19 จะคำนึงถึงอาการ ระดับความรุนแรงของผู้ป่วย และความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ของพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย โดยกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงมาก จะดูแลโดยพยาบาลผู้ป่วยหนัก/ วิสัญญีพยาบาล/ พยาบาลอายุรกรรม, กลุ่มผู้ป่วยอาการปานกลางและผู้ป่วยอาการรุนแรงน้อย จะดูแลโดยพยาบาลอายุรกรรม และพยาบาลของสาขาอื่นๆ, กลุ่มผู้มารับบริการคัดกรองการติดเชื้อที่โรงพยาบาล จะใช้พยาบาลผู้ป่วยนอก ส่วนการคัดกรองในชุมชน จะเป็นพยาบาลชุมชน/ พยาบาลอาชีวอนามัย/ พยาบาลจิตเวช โดยทุกโรงพยาบาลจะมีพยาบาลป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ดูแลระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของบุคลากร พยาบาล และประชาชน

นางสุทธิพร เทรูยา รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า สถาบันบําราศ ฯ ได้ตรวจรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ 4 มกราคม 63 ถึงปัจจุบัน มีผู้รับบริการ 14,327 ราย สงสัยติดเชื้อ 5,062 ราย มีผู้ป่วยยืนยันรักษาที่สถาบันบำราศฯ 214 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 210 ราย เสียชีวิต 4 ราย ไม่มีพยาบาลติดเชื้อแม้แต่รายเดียว หัวใจการทำงานคือยึดหลักการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลและการปฏิบัติตามมาตรฐานการพยาบาลของผู้ป่วยในแต่ละระดับ นอกจากนี้ พยาบาลจะเป็นผู้ให้กำลังใจ ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ได้มีการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายที่ถูกต้อง ทักษะการใช้อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ และเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจของพยาบาล ตรวจสุขภาพประจำปี ฉีดวัคซีนป้องกันโรค หัวใจสำคัญคือ ผู้ป่วยปลอดภัย พยาบาลปลอดภัย ไม่มีการแพร่กระจายเชื้อสู่สิ่งแวดล้อม และผู้ป่วยอื่นๆ ในการปฏิบัติงานรับผู้ป่วย จะมีการวางแผนตั้งแต่เส้นทางจากสนามบินจนถึงห้องผู้ป่วย จัดทีมพยาบาล เจ้าหน้าที่ รับผู้ป่วยโดยใช้มาตรการป้องกันขั้นสูงสุด มีเส้นทางเฉพาะในโรงพยาบาล และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายให้มีใช้อย่างเพียงพอ บทเรียนครั้งนี้ สามารถถ่ายทอดให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ต่อไป

นางศิริมา ลีละวงศ์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาล กล่าวว่า พยาบาลได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ในการให้บริการ 6 ประการ คือ 1.สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาปฏิบัติงานและเปลี่ยนทุก 8 ชั่วโมง 2.ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ 3.อาบน้ำสระผมก่อนกลับบ้านหรือทันทีเมื่อถึงบ้าน 4.ไม่ใส่ชุดพยาบาลกลับบ้าน 5.พกพาเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวตลอดเวลา และ6.ไม่สวมชุดพยาบาลไปในพื้นที่สาธารณะ


12 พฤษภาคม 2563