กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อจัดหาน้ำต้นทุนและยกระดับกลุ่มเกษตรกรจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นกลุ่มผู้ผลิต และนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ห้องประชุมจำเนียรสาร ชั้น 24 ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บางเขน รศ.ดร.วิโรจ อิ่มพิทักษ์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วย “การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้น้ำบาดาลเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” ระหว่าง นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อร่วมจัดหาน้ำต้นทุนและยกระดับกลุ่มเกษตรกรจากกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นกลุ่มผู้ผลิต และนำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยเกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปี ทั้งทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเล็งเห็นความสำคัญในภาคเกษตรกรรมมาโดยตลอด จึงได้ดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 โดยในปี 2563 นี้ ได้ร่วมแก้ไขปัญหาให้กลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศมากกว่า 793 แห่ง โดยพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำบาดาลให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งคำนึงถึงการใช้พลังงานทางเลือก คือ พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ เป็นการ
บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีการพัฒนาต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่เคยเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำให้เปลี่ยนเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีคุณภาพ สร้างความเข้มแข็ง ในระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. มุ่งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเกษตรไทยทั้งในด้านเงินทุนและให้ความรู้ในการบริหารจัดการ รวมถึงปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการทำเกษตรกรรม คือ “น้ำ” โดย ธ.ก.ส. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันในการคัดเลือกชุมชน องค์กรชุมชน ที่มีศักยภาพให้สามารถเข้าถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยการสนับสนุนการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล สนับสนุนน้ำต้นทุน ในการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและสามารถนำไปบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนใหม่ จำนวน 10 ชุมชน และพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำเดิม จำนวน 793 ชุมชน