สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 4-8 พ.ค. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 11-15 พ.ค. 63 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • อุปสงค์น้ำมันเริ่มฟื้นตัวหลังจากหลายประเทศ เช่น อิตาลี สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย ปากีสถาน และหลายรัฐของสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายการปิดประเทศและเมืองต่างๆ จากผลกระทบของ COVID-19 ขณะที่กลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) เริ่มลดอุปทานน้ำมันตามข้อตกลงในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Reuters รายงานรัสเซียผลิตน้ำมันดิบ ในช่วง 1-5 พ.ค. 63 ลดลงมาอยู่ที่ 8.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน และใกล้เป้าหมายตามที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 ซึ่งได้ตกลงกับกลุ่ม OPEC + โดยรัสเซียผลิตน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 11.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 2552 ที่ปริมาณการผลิตต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท ExxonMobil และ Chevron ผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา มีแผนปิดการผลิตทั่วโลก รวม 800,000 บาร์เรลต่อวัน จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายที่แหล่ง Permian ในมลรัฐ Texas โดย ExxonMobil มีแผนจะลดการขุดเจาะ ลงประมาณ 75% และตั้งงบค่าใช้จ่ายในปี 2563 ไว้ที่ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี
  • หน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานจีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 9.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 800,000 บาร์เรลต่อวัน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 33 แท่น มาอยู่ที่ 292 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 52
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 33,816 สัญญา อยู่ที่ 176,942 สัญญา
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2,009 สัญญา มาอยู่ที่ 341,468 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการประกาศปิดประเทศของอินเดียตั้งแต่ 24 มี.ค. 63 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอย่างมาก โดยอัตราการกลั่นน้ำมันของอินเดียในเดือน เม.ย. 63 ลดลงราว 50% จากอัตราการกลั่นในเดือน มี.ค. 63 ที่ระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงจำเป็นต้องจำกัดการนำเข้าน้ำมันดิบ หรือต้องเก็บสำรองเข้าคลังปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ซึ่งปัจจุบันสำนักข่าว Argus รายงานว่าคลังเก็บสำรองเชิงพาณิชย์ และ SPR ของอินเดียเต็มแล้ว โดยมีระดับสำรองสูงถึง 270 ล้านบาร์เรล นับรวม SPR ปริมาณ 39 ล้านบาร์เรล รวมถึงยังมีการเก็บน้ำมันใน Floating Storage อีกประมาณ 50 ล้านบาร์เรล
  • EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 1 พ.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 532.2 ล้านบาร์เรล
  • โรงกลั่นเกาหลีใต้กลั่นน้ำมันดิบ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8% ปริมาณ 2.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นอัตราการเดินเครื่องเฉลี่ยที่ระดับ 74.6% จากความสามารถในการกลั่นของประเทศที่ 3.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุด 2 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.8 แสนราย อยู่ที่ 3.17 ล้านราย  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 63 เป็นต้นมา มีผู้ขอรับสวัสดิการไปแล้วมากกว่า 33.5 ล้านราย ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.3% มาอยู่ที่ 14.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และยอดจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงจากเดือนก่อน 20.5 ล้านราย

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้นประมาณ 5% โดย ICE Brent สามารถปิดตลาดเหนือระดับ 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากข่าว Reuters ประเมินว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบในทวีปอเมริกาเหนือจะลดปริมาณการผลิตลงประมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 63 จากวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ อย่างไรก็ดี ด้านเศรษฐกิจยังน่าวิตกอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 63 ของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ที่ 14.7% ขณะที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำโดยประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 5% มาอยู่ที่ 15% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 63 เป็นต้นไป และตัดงบประมาณสำหรับโครงการ “Vision 2030” จำนวน 1 แสนล้านริยาล (ประมาณ 2.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทาง CME Group ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก ได้แจ้งผู้ใช้บริการว่า ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. เป็นต้นไป ระบบของ CME จะสามารถรองรับราคาติดลบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากน้ำมันดิบ WTI โดยจะครอบคลุมสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ส่งมอบ เดือน ก.ค. 63 สำหรับน้ำมันดิบ Brent และ RBOB gasoline รวมถึงตลาดก๊าซธรรมชาติและ LNG ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. เป็นต้นไป ให้จับตาตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index-CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index-PPI) ซึ่งจะช่วยสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 27.5 -32.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 21.5 – 26.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 23.0 – 28.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงกลั่น Tabangao (กำลังการกลั่น 110,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Pilipinas Shell Petroleum Corporation ในฟิลิปปินส์หยุดดำเนินการเดินเครื่องชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 63 เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน หลังความต้องการใช้และค่าการกลั่นในภูมิภาคเอเชียลดลง จากผลกระทบของ COVID-19 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 1 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 256.4  ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณส่งออกเบนซิน เดือน มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% อยู่ที่ 90,900 บาร์เรลต่อวัน และมีข่าว Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดียออกประมูลขายเบนซิน 87 RON ปริมาณ 110,500 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 11-13 พ.ค. 63 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 720,000 บาร์เรล อยู่ที่ 16.34 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 27.5-32.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก METI ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณส่งออกดีเซล เดือน มี.ค. 63 ลดลงจากปีก่อน 37.0% อยู่ที่ 118,700 บาร์เรลต่อวัน และ SK Energy ของเกาหลีใต้มีแผนปิดซ่อมบำรุง CDU (No. 5: กำลังการกลั่น 260,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่เดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 และ Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้ดีเซลในเดือน มี.ค. 63 ลดลงจากปีก่อน 11.9% อยู่ที่ 12.99 ล้านบาร์เรล จากแพร่ระบาดของ COVID-19  ด้านปริมาณสำรอง  IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 5 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 870,000 บาร์เรล อยู่ที่ 14.00 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 1 พ.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  9.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 151.5 ล้านบาร์เรล และ Mangalore Refinery and Petrochemicals Ltd. ของอินเดียออกประมูลขายดีเซล 0.001% S ปริมาณ 552,500 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 26-28 พ.ค. 63 ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29-34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


โทรศัพท์  0-2537-3197,02-537-3365

ฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.

11 พฤษภาคม 2563