กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุจากพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะการขับขี่รถบนท้องถนน ควรหยุดรถในที่ปลอดภัยและรอจนกว่าลมพายุจะสงบ ส่วนลมที่กระโชกแรงอาจทำให้เกิดการหักโค่นของต้นไม้ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคง ป้ายโฆษณา หรือสิ่งของต่างๆ หล่นทับ จนทำให้บาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้
วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงสัปดาห์นี้ เกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย จะมีอากาศร้อน และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่าด้วย นั้น กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังขณะเกิดฝนตกและลมกระโชกแรง โดยเฉพาะการขับขี่รถบนท้องถนน หากประชาชนยังขับขี่ยานพาหนะอยู่ ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยการลดความเร็วลง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ช่วงที่ฝนเริ่มตกใน 10 นาทีแรก เป็นช่วงที่รถมีโอกาสลื่นไถลมากที่สุด เพราะน้ำฝนจะชะล้างคราบดินและฝุ่นละอองที่ติดอยู่บนพื้นถนน ซึ่งมีลักษณะคล้ายการละเลงโคลน ดังนั้น การลดความเร็วของรถ จึงเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ ที่สำคัญหากมีพายุฝนและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ควรหยุดรถในที่ปลอดภัย และรอจนกว่าลมพายุจะสงบ ถึงค่อยเดินทางต่อ
นอกจากนี้ ขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ประชาชนไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ เพราะอาจเกิดการหักโค่นหรือหล่นทับ ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิต และไม่ควรอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะอาจมีสิ่งของหรือวัสดุต่างๆ ที่ปลิวตามลม อาจมาโดนตัวหรือหล่นทับได้เช่นกัน รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้าผ่าด้วย โดยขอให้ประชาชนไม่อยู่ใกล้หรือใช้อุปกรณ์ที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เครื่องมือการเกษตร และโทรศัพท์มือถือ ควรหลบในอาคารที่ติดตั้งสายล่อฟ้า หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะกระแสไฟจากฟ้าผ่าอาจไหลผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวแนะนำอีกว่า ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับลมพายุ นั้น หากประชาชนอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยง ควรรีบเคลื่อนย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีความแข็งแรง ควรจัดเตรียมไฟฉาย ตลอดจนยารักษาโรคให้พร้อม สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 พฤษภาคม 2563