กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดในช่วงปิดเทอมเพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสภาพอากาศช่วงนี้ร้อนจัด เด็กๆ จึงมักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ำ ทำให้เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้ หลังพบข้อมูลปีนี้ มากกว่าร้อยละ 50 ของการจมน้ำในเด็กเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ พร้อมแนะมาตรการป้องกันการจมน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิต
วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมยาวกว่าปกติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น กรมควบคุมโรค ขอเตือนผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในช่วงนี้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ดีขึ้น มีรายงานพบผู้ป่วยรายใหม่น้อยลง ประชาชนเริ่มออกจากบ้านมากขึ้น แต่ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรืออ่างเก็บน้ำ เพราะนอกจากจะเสี่ยงติด โควิด-19 จากการรวมตัวกันของเด็กๆ แล้ว ยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิตได้
จากข้อมูลการเฝ้าระวังข่าวจากเครือข่ายในพื้นที่และสื่อในเบื้องต้น โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 พฤษภาคม 2563 พบเหตุการณ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำถึง 33 เหตุการณ์ (หรือร้อยละ 55.9 ของการจมน้ำเสียชีวิตในทุกกลุ่มอายุ) มีเด็กเสียชีวิต 30 ราย โดยเด็กอายุ 5-14 ปี จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด (ร้อยละ 76.6) เพศชายจมน้ำมากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่าตัว สาเหตุการจมน้ำของเด็กส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ (ร้อยละ 53.5) ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่เกิดจากการออกไปประกอบอาชีพ เช่น หาปลา หาหอย (ร้อยละ 38.7) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมาพบว่า แหล่งน้ำที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็น แม่น้ำ บ่อน้ำ และทะเล โดยมีเหตุการณ์การจมน้ำตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปถึง 5 เหตุการณ์ ที่น่าสนใจคือการจมน้ำของเด็กในช่วงนี้มีผู้ปกครอง อยู่ด้วย แต่ผู้ปกครองปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำกันเองไม่ทันได้ระมัดระวัง หรือนั่งดื่มสุรารอบนฝั่ง และบางเหตุการณ์ผู้ปกครองงมหอย หาปลา และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการช่วยเหลือที่ผิดวิธีของเด็กคือการกระโดดลงไปช่วยและไม่มีอุปกรณ์ ผู้ช่วยเหลือจึงกลายเป็นคนจมน้ำเสียชีวิต
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ นั้น จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับชุมชน ให้ความรู้เด็กและผู้ปกครองในการป้องกันการจมน้ำ และชุมชนควรร่วมดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น การสร้างรั้วกั้น ป้ายเตือน และเตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง นอกจากนี้ ขณะที่ผู้ปกครองนำเด็กออกไปประกอบอาชีพ หาหอย หาปลา และจำเป็นต้องนำเด็กไปด้วยควรให้เด็กพกอุปกรณ์ลอยน้ำที่หาได้ง่ายและหาได้ในชุมชน เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ผูกเชือกใช้สะพายแล่งลงไปในน้ำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถนำมากอดไว้ที่บริเวณหน้าอกเพื่อลอยตัวอยู่ในน้ำและตะโกนขอความช่วยเหลือ หรือสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโยนช่วยเหลือคนอื่นได้
ที่สำคัญหากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ 1.ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอน พลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 พฤษภาคม 2563