กรมควบคุมโรค แนะประชาชนหากพบสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรจัดสงสัยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่ทันที เผยผู้ป่วยเด็กชายชาวเมียนมาร์ที่ถูกสุนัขกัด ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว พร้อมดำเนินการสื่อสารความเสี่ยงแก่คนในชุมชนทั้งชาวไทยและชาวเมียนมาร์ ปูพรมค้นหา ติดตามกลุ่มเสี่ยงและฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบชุมชน เน้นย้ำหากถูกกัด ข่วนให้รีบรักษาเบื้องต้นและพบแพทย์ เพื่อพิจารณารับการฉีดวัคซีนทันที
วันที่ 6 สิงหาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่มีรายงานข่าวพบชายนำชิ้นส่วนอวัยวะของสุนัขมารับประทานนั้น จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ ตกทอดมาว่า เมื่อรับประทานอวัยวะของสัตว์ที่มาทำร้ายแล้วจะไม่เกิดโรค กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหรือเครื่องในสัตว์ที่คาดว่ามีเชื้อของโรคพิษสุนัขบ้า เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อขณะชำแหละหรือประกอบอาหารจากสัตว์ที่ตาย หากพบสุนัข แมวหรือสัตว์เลี้ยงตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สงสัยป่วยโรคพิษสุนัขบ้า ควรแจ้งผู้รับผิดชอบให้เข้ามาเก็บตัวอย่าง เพื่อวินิจฉัยและจัดการต่อไป
จากข้อมูลสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยถูกสุนัขที่มีเจ้าของกัด ไม่พบประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากการทำแผลเบื้องต้นที่คลินิกแห่งหนึ่ง ประมาณ 1 เดือนจากนั้นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้า คือ มีไข้ คันบริเวณแผลที่ถูกกัด ชักเกร็ง ผวาเป็นพักๆ ผลวินิจฉัยยืนยันป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ล่าสุดเสียชีวิตแล้วจากโรคพิษสุนัขบ้า
กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการสื่อสารความเสี่ยงเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจและ ความเชื่อที่ถูกต้องของโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนในชุมชน เร่งค้นหา ติดตามผู้สัมผัสโรค ผู้สัมผัสสุนัขให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบถ้วน พร้อมดำเนินงานร่วมกับปศุสัตว์ในพื้นที่ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์เลี้ยง ตลอดจนสัตว์จรจัดในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรรอบชุมชน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า ประชาชนบางส่วนยังมีความรู้และความเชื่อเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ ไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดหรือข่วน แล้วใช้สมุนไพรพอกหรือใช้รองเท้าตบแผล รวมถึงแผลที่ถูกสัตว์เลี้ยงกัด ข่วนไม่มีเลือดออกไม่เกิดโรค เป็นต้น ความรู้และความเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น
ประชาชนที่ถูกสุนัขและแมว หรือแม้กระทั่งลูกสุนัข ลูกแมว อายุ 2-3 เดือน กัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล แม้เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลือดออกที่แผลก็อย่าได้ชะล่าใจ รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง ประมาณ 10 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อ (เบตาดีน) และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และที่สำคัญหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ขอให้ไปฉีดวัคซีนต่อให้ครบตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ประชาชนพบเห็นสัตว์สงสัยป่วย ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแจ้งกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน อาสาปศุสัตว์ (อสป.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือแจ้งด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ thairabies.net หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422
***********************************************
ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค