วว. มอบต้นกล้าพริกขี้หนูจำนวน 2,000 ต้น สำหรับใช้ในกิจกรรมอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โครงการปฏิบัติการ “Quick Win” 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผ่านการดำเนินงานของ สถานีวิจัยลำตะคอง มอบต้นกล้าพริกขี้หนูจำนวน 2,000 ต้น ให้กับสำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อใช้ในกิจกรรมอำเภอปากช่อง “Quick Win” 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็นโครงการที่ทางอำเภอปากช่อง ร่วมกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในแต่ละพื้นที่ 14 ตำบล ร่วมกันจัดทำแปลงสาธิตเพาะปลูกพืชผักอายุสั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อนำผลผลิตที่ได้แจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว.มีความภาคภูมิใจและยินดียิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดำเนิน โครงการปฏิบัติการ “Quick Win” 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งส่งเสริมให้ทุกครัวเรือน ปลูกพืชผักสวนครัว คนละ 5 ชนิด เพื่อไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งเป็นการทำเกษตรพอเพียงให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนในสังคมให้ความร่วมมือเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตามมาตรการของรัฐบาล การมอบต้นกล้าพริกขี้หนูจำนวน 2,000 ต้นในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน ได้มีวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารที่ปลอดสารเคมี ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งช่วยลดภาวะการตึงเครียดจากสถานการณ์ด้วยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นบางครัวเรือนสามารถนำต้นกล้าไปขยายพันธุ์เพื่อเพาะปลูกสร้างรายได้เสริมต่อไป
นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง วว. กล่าวว่า สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งวิจัย พัฒนา และศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีของ วว. เพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตเทคโนโลยี และรองรับความต้องการของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้นยังให้บริการสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ในการประชุม/ฝึกอบรม และสัมมนาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ บริษัท สมาคมและเอกชนทั่วไป นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการสนับสนุนต้นกล้าผักและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิต ส่งเสริมให้ชุมชนได้เรียนรู้การทำการเกษตร ปลูกพืชผักสำหรับบริโภคในครัวเรือนหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริม เพื่อความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน