ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษา “โครงการพัฒนาชุดข้อมูลเพื่อติดตามและวัดผลการดำเนินการระดมทุนเพื่อการพัฒนาตามมติคณะรัฐมนตรี” ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ ห้องวายุภักษ์ ๖ ชั้น ๕ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อนำไปปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึง FfD เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย หน่วยราชการและภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดตลอดจนตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมและความรู้ความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
โครงการฯ นี้ เกิดขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ รับทราบผลการประชุมระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๓ ว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (Third International Conference on Financing for Development: FfD) และได้มอบหมายหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องดำเนินการ โดยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการกำหนดแนวทางการติดตามและการวัดผลการดำเนินการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการระดมทุนเพื่อการพัฒนาหรือ FfD เป็นกรอบความร่วมมือเชิงนโยบายในระดับนานาชาติด้านการระดมทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนา โดยผู้นำและรัฐบาลของประเทศทั่วโลกสร้างข้อกำหนดที่เป็นรูปธรรมในการจัดหาและการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาและการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมรับรอง “วาระการพัฒนาปี ๒๐๓๐ ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ ให้เป็นเป้าหมายระดับสากลที่ชาติสมาชิกร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้ทั่วโลกเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกำหนดระยะเวลาบรรลุผลตามเป้าหมายภายใน ๑๕ ปี หรือถึงปี พ.ศ. ๒๕๗๓ (ค.ศ.๒๐๓๐) โดยมีสาระครอบคลุมประเด็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล อันเป็นสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ทำลายแหล่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนา
ดังนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบการระดมทุนเพื่อการพัฒนาให้ฟังเข้าใจง่ายก็คือ “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” นั่นคือเปรียบ SDGs เป็นเหมือน “กองทัพ” ที่ทุกภาคส่วนของประเทศจะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง ๑๗ เป้าหมายหรือ ๑๗ เมือง ส่วน FfD เปรียบเสมือนเป็น “กองเสบียงที่ช่วยให้กองทัพมีเสบียงและสรรพกำลังเดินหน้าต่อไปได้” FfD จึงเป็นทุนหรือเสบียงที่ประเทศจะต้องจัดหาและนำส่งให้กองทัพไปรบเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ดังนั้น SDGs กับ FfD จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการควบคู่กันอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งเสบียงในที่นี้ ไม่ใช่การระดมเงินจากประเทศร่ำรวยสู่ประเทศยากจน แต่เป็นมากกว่านั้นคือ เป็นทั้งการเพิ่มศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาในการระดมทรัพยากรทางการเงินด้วยตัวเองทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน การเพิ่มขนาดของทรัพยากรทางการเงินผ่านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัล และนวัตกรรม นอกจากนั้นยังรวมถึงมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางการเงินด้วย เช่น การกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เอื้อต่อการระดมทุน การต่อต้านคอร์รัปชั่นและการฟอกเงิน การมีธรรมาภิบาล และความโปร่งใส FfD จึงเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำคือ ทำอย่างไรที่จะให้ประเทศมีเงินทุนเพียงพอที่จะไปสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ดังนั้น โครงการฯ นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยในการกำหนดแนวทางการติดตามและการวัดผลการดำเนินการระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพในบริบทของประเทศไทย โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์สถานการณ์การระดมทุนที่มีประสิทธิภาพของประเทศในปัจจุบันเพื่อใช้เป็น Baseline และติดตามและวัดผลการดำเนินการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า ซึ่งจากการศึกษาของโครงการพบว่า สถานการณ์ระดมทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย อยู่ใน “ระดับปานกลาง – ดี” ยกตัวอย่างเช่น สาขา A แหล่งเงินทุนของภาครัฐภายในประเทศ พบว่าภาครัฐไทยมีการใช้จ่ายไปในทิศทางที่เพิ่มความยั่งยืนของการพัฒนามากขึ้น เช่น เพิ่มรายจ่ายด้านสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็ควบคุมระดับหนี้สาธารณะให้มีเสถียรภาพดี นอกจากนั้นยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ได้แก่ การปรับปรุงภาพลักษณ์เรื่องคอร์รับชัน สาขา B การประกอบธุรกิจและการระดมทุนภาคเอกชนภายในประเทศและระหว่างประเทศ พบว่าภาคเอกชนให้ความสนใจกับการรายงานการดำเนินงานของบริษัทเอกชนที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาดก็มีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนเองก็เข้าถึงบริการทางการเงินดีขึ้น มีการออมมากขึ้น และมีการใช้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่ยังมีนโยบายที่ควรต้องปรับปรุงหลายประการ เช่น (ก) เพิ่มการเก็บภาษีให้มากกว่าในปัจจุบัน (ข) เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการจัดทำงบประมาณ (ค) ควบคุมการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ง) ลดสัดส่วนผู้สูบบุหรี่ (จ) เพิ่มสัดส่วนการค้าต่อรายได้ประชาชาติ (ฉ) ต้องพยายามลดระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติให้ต่ำลงในอัตราเร่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการแก้ไข กล่าวคือ FfD เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย หน่วยราชการและภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดตลอดจนตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้น จึงควรมีการเร่งสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะของการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเบื้องต้นกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างทั่วถึง รวมถึงประเทศไทยยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลบางตัว โดยเฉพาะข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เก็บโดยหน่วยงานภาครัฐ และยังไม่ได้มีการเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ และข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลซึ่งสะท้อนภาพรวมระดับประเทศ โดยยังขาดข้อมูลในระดับจังหวัดและท้องถิ่น จึงต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและสร้างเครือข่ายประสานการดำเนินงานเรื่อง FfD รวมถึงประสานหน่วยงานเพื่อพัฒนาคุณภาพข้อมูล เช่น เพิ่มการจำแนกข้อมูล ลดเงื่อนไขการเผยแพร่ข้อมูลหรือขอรหัสผ่านเข้าถึงระบบฐานข้อมูล เพิ่มการจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่ขาด สำรวจความพร้อมและช่องว่างความสามารถ (capacity gap) ของหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูล เป็นต้น โดยจัดทำแผนการสร้างเสริมความสามารถ (capacity building) เพื่อให้เกิดการพัฒนาการระดมทุนของประเทศอย่างยั่งยืน
*********************************