สรุปแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19” หลังเปิดปฏิบัติการครบรอบ 1 เดือน พบภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นจาก 12 สู่ 26 องค์กร ทุกฝ่ายพร้อมเดินหน้าสร้างความร่วมมือถึงระดับชุมชน หารือมาตรการระยะถัดไปสู่ “New Normal” ในอนาคต
นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนที่ภาคีเครือข่ายด้านสังคมและสุขภาพหลากหลายองค์กร ได้จับมือกันเพื่อขับเคลื่อนแผนงานสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างพลังให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสู้ศึกครั้งนี้
จากจุดเริ่มต้นสู่การดำเนินงานที่กระจายลงไปในทุกระดับ ทุกพื้นที่ มาจนถึงวันที่สิ่งต่างๆ ในสังคมกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal พบว่าความก้าวหน้ามีมากขึ้นตามลำดับ
เพื่อสรุปทิศทางและวางแผนการเดินหน้าที่ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานสานพลัง จึงเชิญทุกส่วนเข้าร่วมประชุมการขับเคลื่อนแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19” เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมี นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เริ่มต้นทบทวนเป้าหมายของการรวมพลังเครือข่ายด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งมีการระดมทรัพยากรและประสานการทำงานในแนวราบ เชื่อมร้อยให้แต่ละพื้นที่เกิดข้อตกลงร่วมหรือ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” อันเป็นฉันทามติที่ทุกคนยอมรับและร่วมกันปฏิบัติตาม
นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกของภาคีเครือข่ายรวม 12 องค์กร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ปัจจุบันมีเครือข่ายหน่วยงานเพิ่มเข้ามาร่วมเป็น 26 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เครือข่ายระดับพื้นที่ ไปจนถึงคณะสงฆ์ รวมถึงมีการประสานหน่วยงานระดับนโยบายที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดความร่วมมือในระดับต่างๆ
นพ.ปรีดา บอกว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ คือการจัดทำข้อตกลงหรือรูปแบบมาตรการร่วมของสังคมที่ถูกกระตุ้นและส่งต่อกระจายไปยังที่ต่างๆ นับเป็นปรากฏการณ์การตอบสนองที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ให้เป็นระบบในลักษณะเป็นจดหมายเหตุ เพื่อให้ทราบว่ากระบวนการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงกระเพื่อมและเกิดผลต่อสังคมอย่างไรบ้าง
“หนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจมากมาย แม้จะมีข้อจำกัดของการประชุมแต่เครือข่ายต่างๆ สามารถปรับวิธีปรึกษาหารือจนเกิดรูปแบบใหม่ๆ สิ่งที่ต้องคิดต่อหลังจากนี้คือเมื่อพ้นจากระยะวิกฤติ และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะกลางหรือระยะฟื้นฟู เราจะมีรูปแบบวิธีเคลื่อนต่อไปอย่างไร มีการทำข้อตกลงต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนในระยะต่อไปอย่างไร” นพ.ปรีดา ให้ภาพ
จากนั้น หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันบอกเล่าถึงการดำเนินงานตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมองเห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ โดยมีภาพการทำงานที่สำคัญ อาทิ การใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้านโควิด 19 ในพื้นที่กว่า 3,900 ตำบล เฉลี่ยตำบลละ 3 โครงการ เป็นงบรวม 650 ล้านบาท
รวมไปถึงการปรับแผนงบประมาณของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อต่อสู้กับโควิด 19 การสนับสนุนชุมชนพักชำระหนี้ การผลิตหน้ากากอนามัย ตลอดจนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหาร หรือแอปพลิเคชัน C-site ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ที่เติบโตขึ้น 1,000% ด้วยการถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารของเครือข่ายชุมชนต่างๆ เป็นต้น
สำหรับประเด็นหารือกันในครั้งนี้ คือการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ระยะถัดไป ซึ่งจะเป็น “ระยะฟื้นฟู” และการเริ่มเข้าสู่ภาวะ New Normal ที่หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นรูปแบบการทำงานต้องปรับตัวไปในทิศทางที่สอดรับกัน
สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสำคัญหลังจากนี้ นอกจากในแง่การเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายมาตรการโดยที่ยังมีความต่อเนื่องของการป้องกัน เพื่อไม่ให้ “การ์ดตก” แล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมกันกับการสร้างระบบสุขภาพชุมชน การวางระบบบริการปฐมภูมิ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยแนวใหม่ ภายใต้ความตื่นตัวของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง
นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปฏิบัติการที่ผ่านมาเป็นพลังแนวราบที่ช่วยเสริมพลังแนวดิ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนให้ชนะโรคโควิด 19 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พอช. ได้สนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการสำรวจข้อมูลคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ ตลอดจนการจัดตั้งครัวชุมชน และศูนย์พักคนไร้บ้าน
นายปฏิภาณ บอกอีกว่า นอกจากการปรับแผนงบประมาณของโครงการต่างๆ ให้มาขับเคลื่อนเรื่องของโควิด 19 แล้ว พอช. ยังจะใช้งบประมาณอีกส่วนเพื่อให้เกิดกระบวนการจ้างงานในชุมชนด้วย ซึ่งแผนระยะต่อไปหลังวิกฤติโควิด 19 คือ การวางรากฐานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น พัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิต สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถจัดการตนเองได้ เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน
ด้านนายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้วางแผนงานในการสื่อสารสังคมเป็นสำคัญ โดยเฟสแรกในช่วงเริ่มต้นของการระบาดได้เน้นไปที่เรื่องของการดูแลป้องกันตัวเอง ถัดมาในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563 ซึ่งเข้าสู่เฟสที่สองที่เป็นช่วงเตรียมความพร้อมก่อนผ่อนคลายมาตรการ จึงขยับมาสื่อสารในแนวทางการปรับ Mindset สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมกับลดการตีตราทางสังคมไม่ให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ติดเชื้อ
นายประกาศิต กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ในเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2563 ซึ่งนับเป็นเฟสที่สามของการสื่อสารสังคม จะเน้นหนักไปที่การสื่อสารว่าเราจะเข้าสู่ New Normal อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงเรียนแล้วจะมีรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร สถานประกอบการจะเตรียมความพร้อมอย่างไร ซึ่งในส่วนชุมชนชนบทนั้นมีเครือข่ายเข้มแข็งที่สามารถสื่อสารได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ส่วนของชุมชนเมือง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นสูง ภายหลังการผ่อนผันอาจเกิดกรณีการระบาดอีกดั่งเช่นประเทศสิงคโปร์ได้
ท้ายที่สุด นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขมวดประเด็นการพูดคุย โดย ตอกย้ำว่า การรับมือโควิด 19 นั้น ยังเป็นงานที่ต่อเนื่องในระยะยาว โดยภาพรวมซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันสรุปถึงทิศทางในระยะถัดไป มีทั้งเรื่องการสื่อสารทางสังคมให้เห็นถึงปฏิบัติการที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน การยกระดับมาตรการทางสังคมหรือข้อตกลงชุมชนให้เกิดขึ้นต่อไปในระยะยาว ผูกโยงกับประเด็นปัญหาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
เช่นเดียวกับการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนของพื้นที่จัดการตนเอง การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้การเชื่อมโยงร่วมกับองค์กรชุมชนและผู้นำทางศาสนา รวมถึงการปรับระบบสุขภาพชุมชน ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และระบบสาธารณสุขมูลฐาน ที่สอดคล้องกับ New Normal ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้