วันที่ 6 พ.ค. 63 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจน นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอิทธิพล เผ่าไพศาล ผอ.สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่โดยการส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 จำหน่ายสร้างรายได้ โดยมีผู้นำและผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมรับฟัง ณ วิสาหกิจชุมชนคนรักการเกษตร อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา
นายประภัตร กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาภัยพิบัติ น้ำแล้ง ฝนทิ้งช่วง พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ตลอดจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ด่านต่างๆ ปิดชั่วคราว ไม่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้โดยสะดวก ท่านนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ครม.จึงอนุมัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท ให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง (เกษตรสร้างชาติ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. ดังกล่าว วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำภาคปศุสัตว์มาส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ที่มั่นคง ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเลี้ยงสัตว์ให้สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ไก่พื้นเมือง โดยมีตลาดรองรับ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาด ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ โดยมีอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ 10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 – 30 พ.ย. 65
นายประภัตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จ.นครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดที่มีโคเนื้อมากที่สุดในประเทศ จำนวนกว่า 300,000 ตัว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความมั่นคงของอาชีพเลี้ยงวัวนั้น มาจากความมั่นคงทางอาหารสัตว์ โดยตลาดภายในประเทศมีการบริโภคโคเนื้อมากถึง 1,200,000 ตัว อีกทั้งตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการโคเนื้อจำนวนมาก ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงวัวแล้ว ยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์สร้างรายได้ ซึ่งพืชอาหารสัตว์ที่ใช้ผลิต คือ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ซึ่งมีศักยภาพให้ผลผลิตและมีคุณค่าทางอาหาร โดยเบื้องต้นสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ พื้นที่ 5 พันไร่ รอบโรงงานแป้งมันสำปะหลังในพื้นที่ อ.เสิงสาง และ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เพื่อส่งขาย Feed Center ตลอดจนดันให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร TMR ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยได้สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงงานอาหารสัตว์ให้วัวขุน ซึ่งจะเป็นอาชีพหลักของคนภาคอีสาน เนื่องจากโคราชเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน และมีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ รวมทั้งมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบ่อบำบัดน้ำทิ้งของโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบที่เป็นแหล่งธาตุอาหาร พืช เช่น N P K และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ จำนวนมาก และผ่านการเจือจางความเข้มข้นโดยการเติมน้ำซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ เป็นประโยชน์ต่อการปลูกหญ้าเนเปียร์ ทำให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น โดยจะบริหารจัดการในลักษณะ Feed Center กระจายผลผลิตอาหารสัตว์จำหน่ายไปยังกลุ่มเลี้ยงโคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและอีกหลายๆ จังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง ในราคาถูก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ปักธงชัย และ อ.เสิงสาง คาดว่าใช้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2-3 หมื่นไร่ โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. ตามโครงการสินเชื่อต่างๆ ” นายประภัตร กล่าว
ด้านนายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ยินดีสนับสนุนด้านวิชาการให้กับเกษตรกร โดยพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีแหล่งความพร้อมด้านอาหาร อาทิ หญ้า และน้ำ โดยเฉพาะโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันน้ำที่ได้จากโรงงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากเดิมที่เคยเป็นมลพิษ ซึ่งน้ำที่เหลือจากโรงงานสามารถนำมาปลูกหน้าเนเปียร์เพิ่มผลิตได้เป็นอย่างดี โดยปกติการปลูกหญ้าเนเปียร์จะโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไรสูง รอบการตัด 3 รอบ/ปี แต่ถ้าได้น้ำจากโรงงานที่มีสารประกอบอินทรีย์สูงจะมีรอบการตัดถึง 5รอบ/ปี เป็นการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนในการเลี้ยงโคขุนควบคู่กันไป