กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน เสริมเศรษฐกิจฐานรากจากวัฒนธรรมและทรัพยากรการท่องเที่ยวท้องถิ่น ภายใต้นโยบายไทยนิยมยั่งยืน
นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าปัจจุบันมีชุมชนที่มีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หรือชุมชนOTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 3,273 แห่งและรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการขยายเศรษฐกิจของชุมชน OTOP ให้เติบโตอย่างยั่งยืน กรมการท่องเที่ยวจึงได้จัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้นำชุมชน มัคคุเทศก์ท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมและร่วมกันยกระดับชุมชน OTOP ในเมืองรอง 55 จังหวัดให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
“แนวทางการสร้างชุมชนท่องเที่ยว OTOP นี้ เราเน้นการนำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์มาสร้างเป็นรายได้ ให้กระจายกับคนในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น ภายใต้นโยบายไทยนิยมยั่งยืน” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าว
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เน้นเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่เมืองรอง เสริมศักยภาพการเป็นชุมชนท่องเที่ยว โดยถอดบทเรียนจากชุมชนท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาซึ่งจะดำเนินการจัดอบรมในพื้นที่เมืองรอง12 จังหวัด และตั้งเป้าว่าจะมีผู้นำชุมชน มัคคุเทศก์ท้องถิ่น บุคลากรท้องถิ่นและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 600 คน
“ผู้เข้าร่วมการอบรมในโครงการพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนจะได้เรียนรู้การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการท่องเที่ยว อาทิ ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ด้านบุคลากร การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานสำหรับนักท่องเที่ยว การนำเสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมาต่อยอด เพิ่มคุณค่า และหาจุดเด่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว การทำการตลาดการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยว การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น รวมถึงการยกระดับชุมชนให้เข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่กรมการท่องเที่ยวกำหนด เพื่อรักษาวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนจะได้เรียนรู้การประเมินและติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรการท่องเที่ยวและคนในชุมชน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมถึงประเมินความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาแผนงานร่วมกันในชุมชนต่อไป” อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวเพิ่มเติม
* * * * * * * * * *