สธ.ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทย์ฯ และ มอ. สนับสนุน Lab รพ.ยะลา

กระทรวงสาธารณสุขส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงสนับสนุนการปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลยะลา สอบทานหาสาเหตุความผิดปกติ พร้อมชื่นชมที่สามารถตรวจจับความผิดปกติได้รวดเร็ว

วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงไปสนับสนุนสอบทานหาสาเหตุความผิดปกติของผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่โรงพยาบาลยะลา ซึ่งต้องขอชื่นชมทีมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการฯ ของโรงพยาบาล ที่สามารถตรวจจับความผิดปกติได้รวดเร็ว นำมาสู่การรายงานผล และจะมีการนำตัวอย่างมาทดสอบที่ห้องปฏิบัติการฯ อ้างอิงของประเทศที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าผลจะทราบไม่เกิน 1-2 วันนี้ ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการฯ โรงพยาบาลยะลา ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมวิทย์ฯ เปิดให้บริการตรวจแล้ว มากกว่า 4,000 ตัวอย่างใน 1 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ได้หยุดให้บริการตรวจชั่วคราวจนกว่าจะสอบทานเรียบร้อย

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า เชื้อโควิด 19 เป็นเชื้อโรคใหม่ ทั่วโลกเพิ่งรู้จักได้ 4-5 เดือน ในระยะแรกการตรวจหาเชื้อทำได้ 2 แห่งคือ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อมาได้เพิ่มศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย ปัจจุบันมีมากกว่า 150 แห่ง โดยวิธีการตรวจหาเชื้อใน คอ จมูก ปอด ในทางเดินหายใจ ด้วยวิธี RT-PCR ที่เป็นมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและใช้เป็นหลักการเดียวกันทั่วโลก ข้อดี คือความแม่นยำสูง ตรวจได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรค แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการตรวจ เครื่องมือราคาแพง มีขั้นตอนละเอียดสูง โดยห้องปฏิบัติการตามเกณฑ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือมีนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจการตรวจด้วยวิธี RT-PCR, มีเครื่อง PCR และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio Safety), คนตรวจต้องผ่านการทดสอบความชำนาญ และต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐานและการรายงานข้อมูลตามกรมควบคุมโรคกำหนด ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันได้ตรวจหาเชื้อแล้วกว่า 227,860 ตัวอย่าง และแนวโน้มตรวจเพิ่มได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจประมาณวันละ 6,000 ตัวอย่าง ซึ่งมากกว่าเมื่อต้นเดือนเมษายน ถึง 2 เท่า

ทั้งนี้ การทดสอบทางห้องปฏิบัติการฯหรือระบบใด ๆ ก็ตาม สามารถพบความคลาดเคลื่อนหรือ ผิดพลาด (Error) เสมอ ประกอบด้วย ความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) ความผิดพลาดของเครื่องมือ/น้ำยา (Machine Error) และความผิดพลาดของระบบ (System Error) ซึ่งจะทำให้การตรวจ/การรายงานผลเกิดความคลาดเคลื่อนผิดพลาดได้ ที่เรียกว่า ผลบวกลวงหรือผลบวกปลอม (False Positive) และผลลบลวงหรือผลลบปลอม (False Negative) ดังนั้น ผู้ที่นำผลไปใช้ ต้องตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวเสมอ ซึ่ง การตรวจทางห้องปฏิบัติการฯเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวินิจฉัย ดังนั้นแพทย์/นักระบาดวิทยา จะใช้ผลต้อง คำนึงถึงธรรมชาติการเกิดโรคและสถานการณ์ทางระบาดวิทยาควบคู่กันเสมอ เช่น ใช้ในการค้นหาเชิงรุก/การสอบสวนโรค

ที่ผ่านมาประสิทธิภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีมากกว่า 150 แห่ง ของประเทศไทยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การควบคุมโรค โควิด 19 ของประเทศประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชมขององค์การอนามัยโลก


5 พฤษภาคม 2563