กรมอนามัย ชี้ ไม่ควรสวมหน้ากากขณะวิ่งออกกำลังกาย เสี่ยงร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะกิจการสวนสาธารณะคุมเข้มความปลอดภัยสกัดโควิด-19 อย่างต่อเนื่องหลังได้รับการผ่อนปรนให้เปิดบริการ พร้อมย้ำเตือนประชาชนที่วิ่งออกกำลังกายไม่ควรสวมหน้ากากขณะวิ่ง เพราะเสี่ยงทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ควรสวมป้องกันเมื่อต้องพูดคุยในระยะใกล้ชิด ส่วนผู้ปฏิบัติงานต้องทำความสะอาดสถานที่และจุดเสี่ยงสัมผัสร่วม เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรน 6 กิจการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติแต่ต้องควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องนั้น พบว่าขณะนี้กิจการประเภทสวนสาธารณะ ลานพื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬาและ ลานกีฬา มีประชาชนมาออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก โดยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีการคุมเข้มตั้งแต่จัดให้มีจุดคัดกรองพนักงานดูแล และผู้มาใช้บริการ ด้วยการสังเกตและสอบถามอาการในเบื้องต้น หรือใช้เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย หากพบว่ามีไข้หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส หรือมีอาการป่วย เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ต้องงดให้บริการและแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ดูแลหรือผู้ปฏิบัติงานในสวนสาธารณะต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้บริการ และให้ผู้มาใช้บริการทุกคนสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อมีการพูดคุยกับพนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานในสวนสาธารณะ พร้อมทั้งจัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ในบริเวณที่มีการทำกิจกรรมอย่างทั่วถึง

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนที่วิ่งออกกำลังกายในสวนสาธารณะนั้น ขณะวิ่ง ไม่ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เนื่องจากเวลาออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากการหายใจเร็วขึ้น การสวมใส่หน้ากากผ้าหรืออนามัยจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอโดยเฉพาะหน้ากาก N95 ที่ป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้มากกว่าหน้ากากอนามัย ก็จะยิ่งทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ ที่ออกมาจากร่างกายสะสมอยู่ในหน้ากาก มีโอกาสที่จะหายใจไม่ทันได้ ดังนั้น นักวิ่งทุกคนจึงควรจะเพิ่มระยะห่างในการวิ่งตามกันให้มากขึ้นเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งห่างกันเท่ากับโอกาสในการติดเชื้อก็ยิ่งน้อยลงด้วย และที่สำคัญอย่าไปสัมผัสกับพื้นผิวสัมผัสในที่สาธารณะต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น ส่วนผู้ที่เดินออกกำลังกายให้หลีกเลี่ยงการพูดคุยระยะใกล้ชิด ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น และหลังออกกำลังกายให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ นอกจากนี้เมื่อกลับถึงบ้านให้เปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำทันที

“ทั้งนี้ ในส่วนสถานที่สวนสาธารณะนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ทางเดิน ออกกำลังกาย พื้นถนน ประตู สวน เก้าอี้ ม้านั่ง จุดให้บริการน้ำดื่ม โดยเฉพาะก๊อกน้ำดื่ม อุปกรณ์และอื่น ๆ ที่มีการใช้ร่วมกันภายในสวนสาธารณะเป็นประจำทุกวันก่อนและหลังเปิดสวนสาธารณะ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด วันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดสัมผัสหรือที่ใช้ร่วมกัน หากมีผู้ใช้บริการมากให้เพิ่มความถี่ทำความสะอาด อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง จัดระยะห่างระหว่างเก้าอี้นั่งในบริเวณสวนสาธารณะให้มีระยะห่างกัน 1-2 เมตร และ จัดให้มีถังขยะสภาพดีที่มีฝาปิด สำหรับทิ้งขยะ และให้รวบรวมขยะออกจากสวนสาธารณะทุกวันเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป สำหรับห้องส้วมให้หมั่นทำความสะอาดอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง หรือหลังผู้ใช้บริการเข้าใช้บริการด้วยน้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยสารฆ่าเชื้อโรคบริเวณจุดที่มีการใช้ร่วมกัน ได้แก่ กลอนหรือลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ อ่างล้างมือ ที่รองนั่งโถ เป็นต้น เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ที่ใช้บริการปฏิบัติตามมาตรการของสวนสาธารณะอย่างเคร่งครัดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 5 พฤษภาคม 2563