กรมควบคุมโรค “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”ประจำสัปดาห์ที่ 18 (วันที่ 3 – 9 พ.ค. 63)

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.-21 เม.ย. 63 มีผู้ป่วยโรคไอกรนแล้ว 31 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต  ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุแรกเกิด-4 ปี (ร้อยละ 48.39) รองลงมาคืออายุ 45-54 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ตาก อุบลราชธานี บึงกาฬ พะเยา และนราธิวาส  โดยรายล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 8 เดือน จ.ยะลา ซึ่งได้รับวัคซีนไม่ครบ  ในช่วงปี 57-62 มีรายงานผู้ป่วย 16-174 ราย เสียชีวิตปีละ 0-3 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 โดยเฉพาะในปี 61 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 174 ราย โดยพบในกลุ่มอายุ 1-3 เดือนมากที่สุด ในหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งปีนี้มักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งไอกรนเป็นโรคติดต่อที่มักพบในเด็กแรกเกิด”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไอกรนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากข้อมูลการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กส่วนใหญ่มีประวัติติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัว และผู้ป่วยอายุยังไม่ถึงกำหนดให้วัคซีน ประกอบกับช่วงนี้มีสถานการณ์โรคโควิด-19 อาจทำให้การเดินทางไปรับวัคซีนตามกำหนดในแต่ละครั้งเป็นไปได้ยากขึ้น  โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดต่อกันได้ง่ายผ่านทางไอ จาม โดยในช่วงแรกจะคล้ายอาการโรคไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ต่อจากนั้นจะไอรุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ที่ 2-4 ไอติดต่อกัน 5-10 ครั้งแล้วหยุดไป แล้วจะเริ่มไอใหม่เป็นเช่นนี้ซ้ำๆ เมื่ออาการไอสิ้นสุดแล้วจะหายใจเข้าอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเสียงดัง “วู๊ป” ไอรุนแรงจนอาเจียน และมีเสมหะปน บางรายถึงขั้นไม่สามารถหายใจเองได้  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หากมีอาการไอติดต่อกันเกิน 10 วัน หรือไอเป็นชุด ให้แยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ แล้วรีบพบแพทย์  ผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมชนหรือแออัด และหากพบเด็กแรกเกิดมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ไอเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทัน หรือไอแล้วมีเสียงวู๊ป ให้รีบพาไปแพทย์ทันที  ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามช่วงอายุที่กำหนด คือ อายุ 2,4,6 เดือน และฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 1½ และ 4 ปี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 2 พ.ค. 2563