สธ. คิกออฟ รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มให้บริการ 1 พ.ค. นี้

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมคิกออฟ การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เริ่มให้บริการ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2563 เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้ โดยขอรับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่รพ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ ​รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  นายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 4 ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมเปิดกิจกรรมโครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ปี 2563 เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้ พร้อมมอบวัสดุทางการแพทย์ และเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่รพ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสนับสนุนและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เร็วขึ้น (จากเดือนมิถุนายน เป็นเดือนพฤษภาคม) เพื่อจะช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับช่วงนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจเช่นกัน มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจเกิดความสับสนในการวินิจฉัยและการดูแลรักษาได้ จึงเป็นการช่วยลดภาระในการตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อร่วมระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับโรคโควิด-19 อีกทั้งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล และเป็นการสงวนทรัพยากรทางการแพทย์เพื่อเตรียมการรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับการรณรงค์เร่งให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ จัดระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2563 จำนวน 4.11 ล้านโด๊ส เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงที่หากป่วยแล้วอาจจะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิต โดยให้วัคซีนในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7.โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)  นอกจากนี้ ได้เตรียมวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วย โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถขอรับบริการวัคซีนได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามวันและสถานที่ดังกล่าว

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในช่วงนี้ อาจทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าจะมีคนจำนวนมากมารับบริการฉีดวัคซีนดังกล่าว และอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 นั้น ในเรื่องนี้กรมควบคุมโรคได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้จัดทำแนวทางการดำเนินงานให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2563 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในหน่วยบริการที่ให้บริการวัคซีน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลได้สำรวจกลุ่มเป้าหมายและวางแผนการให้วัคซีน ปรับรูปแบบให้บริการเข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งการจัดช่วงเวลาให้บริการ จำนวนผู้มารับบริการ จัดสถานที่ เพื่อลดความแออัดของการมารวมตัวกัน ยึดหลักการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งหน่วยบริการที่จัดบริการแบบเคลื่อนที่ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยการให้บริการเชิงรุกหรือกระจายการให้บริการในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการรวมตัวและความแออัดในการให้บริการ โดยจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ให้บริการแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงในบางกลุ่มหรือบางกรณี เช่น ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ เป็นต้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข้อมูลจาก: กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563