สถานการณ์ข้อมูลราคาและปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ประจำวันที่ 22 – 28 เมษายน 2563

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง ภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 2563 จากการสำรวจในพื้นที่และสอบถามจากผู้ประกอบการว่า การซื้อขายมีทิศทางที่ดีขึ้น ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และราคายังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยอาหารสดส่วนใหญ่ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว และบางรายการเคลื่อนไหวตามการจัดโปรโมชั่น สินค้าอนามัย (เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ) มีจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนหน้ากากอนามัย ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่หันไปใช้หน้ากากผ้าทดแทน ในขณะที่ภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ และมีอัตรากำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ความต้องการซื้อชะลอตัวและยังคงมีปัญหา/อุปสรรคในด้านสภาพคล่อง ต้นทุน การขนส่ง และแรงงานอยู่ ภาคการผลิตและจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง มีการปรับลดอัตรากำลังการผลิต ตามคำสั่งซื้อและการก่อสร้างที่ชะลอตัว สำหรับภาคการส่งออก ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง และทรงตัว ยกเว้น สินค้าในกลุ่มผลไม้สด และปลาแปรรูป มีแนวโน้มสูงขึ้น

ผอ. สนค. กล่าวสรุปภาพรวมว่า สถานการณ์ราคาและการผลิตยังไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการบริโภคของประชาชน ไม่พบว่ามีการตื่นตกใจซื้อของไปเก็บจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ มาตรการห้ามส่งออกไข่ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากมาตรการปิดประเทศของประเทศคู่ค้า และปัญหาการขนส่งเป็นสำคัญ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับรัฐบาลจีน เพื่อให้เปิดด่านขนส่งสินค้าอีก 2 ด่าน คือ ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านตงซิง ซึ่งสินค้าไทยโดยเฉพาะผลไม้จะสามารถส่งผ่านด่านดังกล่าวไปทางเวียดนามได้เพิ่มเติม รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยกลุ่มต่าง ๆ ค้าขายผ่านทางออนไลน์ได้มากขึ้นต่อไป

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการให้รัฐช่วยด้านสภาพคล่อง การชดเชยรายได้ การลดต้นทุน เช่น ลดค่าไฟฟ้า และให้หาทางขยายการส่งออกทางช่องทางอื่น ๆ เช่น ทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งหลายอย่าง ภาครัฐได้ดำเนินการไปแล้ว แต่อาจจะมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาเสริมได้ และขณะนี้ ได้เริ่มมีการผ่อนคลายการ lock down บางส่วน ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้นได้ในเวลาต่อไป รายละเอียดตามเอกสารแนบ

  • สถานการณ์ราคาขายปลีกสินค้าและบริการ

จากการสำรวจสถานการณ์ราคาขายปลีกสินค้าและบริการ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และพื้นที่ในกรุงเทพฯ จำนวน 14 เขต ในกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ อาทิ อาหารสด สินค้าอุปโภค-บริโภค และบริการสาธารณะ พบว่า ความเคลื่อนไหวมีทิศทางที่ปกติ และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สรุปดังนี้

  • สินค้าที่ราคาทรงตัว อาทิ ไก่สด ราคาทรงตัวต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาในเกือบทุกภาค อาหารสำเร็จรูป (ข้าวแกง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว) ราคาจำหน่ายยังคงปกติ และยังคงมาตรการซื้อกลับไปทานที่บ้าน สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ส่วนใหญ่ราคาทรงตัว และมีการปรับขึ้นลงตามการจัดโปรโมชั่นของห้างฯ เป็นสำคัญ สำหรับค่าโดยสารสาธารณะ ราคายังทรงตัวอย่างต่อเนื่อง และแต่ละพื้นที่ยังคงมาตรการที่เข้มงวดเพื่อลดการติดเชื้อ อาทิ การปรับลดจำนวนเที่ยววิ่ง และการหยุดให้บริการในบางเส้นทาง
  • สินค้าที่ราคาลดลง โดยเฉพาะ ไข่ไก่ ปรับราคาลงในทุกภาค เนื้อสุกร ลดลงเกือบทุกภาค ตามราคาหน้าฟาร์มและปริมาณผลผลิตที่เข้าตลาดจำนวนมาก สำหรับผักสดบางชนิด อาทิ กะหล่ำปลี แตงกวา ผักกาดขาว มะละกอ ในบางพื้นที่ปรับ ราคาลดลงตามปริมาณผลผลิตที่มีมากขึ้น ส่วนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในบางพื้นที่ได้เปิดจำหน่ายแล้ว และมีการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย
  • สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสดบางชนิด (มะนาว ถั่วฝักยาว ผักชี ผักบุ้ง คะน้า) จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้พืชผักเน่าเสียได้ง่าย และผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะทุเรียน ราคาสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศมีมาก
  • สินค้าสุขอนามัย อาทิ เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ มีจำหน่ายเพียงพอต่อความต้องการ ยกเว้น หน้ากากอนามัย ซึ่งประชาชนได้คลายความกังวลต่อการติดเชื้อมากขึ้น และหันไปใช้หน้ากากผ้าที่มีเพียงพอต่อความต้องการ
  • สถานการณ์การผลิตสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค

โดยการโทรศัพท์สอบถามผู้ประกอบการจำนวน 50 ราย ในสินค้าสำคัญ 15 รายการ ได้แก่ ข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ ไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ไข่ไก่ อาหารทะเล (ปลาและหมึก) สด/แช่เย็นแช่แข็ง สุกรมีชีวิต ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม นม/นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม อาหารสัตว์ ผ้าอนามัย สารซักฟอก เจลล้างมือ และน้ำยาฆ่าเชื้อ สรุปดังนี้

  • ภาวะการผลิต ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ และยังมีอัตรากำลังการผลิตเหลืออยู่ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคด้านสภาพคล่อง ต้นทุนปรับสูงขึ้น การขนส่งสินค้าล่าช้า ผลผลิตลดลงตามฤดูกาล แรงงานเริ่มขาดแคลน และความต้องการซื้อชะลอตัว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
  • สินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่า ภัยแล้งและอากาศร้อนส่งผลให้ปริมาณผลผลิต ข้าว และไข่ไก่ลดลง อาหารทะเล (ปลาและหมึก) สด/แช่เย็นแช่แข็ง ปลากระป๋อง และอาหารสัตว์ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น และวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบและการขนส่งล่าช้า เนื่องจากมาตรการ Lock Down ของแต่ละพื้นที่ ไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ความต้องการซื้อชะลอตัว นมพร้อมดื่ม ยังสามารถผลิตได้ตามปกติ
  • สินค้าอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าอนามัย และสารซักฟอก มีความกังวลเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบที่ล่าช้า และอาจจะขาดแคลน ผู้ผลิตบางรายจึงใช้การขนส่งทางอากาศแทน ส่งผลให้ต้นทุนปรับสูงขึ้น การผลิตเจลล้างมือ การจัดหาวัตถุดิบดีขึ้น จากมาตรการของภาครัฐเป็นสำคัญ ส่วนน้ำดื่ม และน้ำยาฆ่าเชื้อ ผลิตได้อย่างเพียงพอ

2) ภาวะผู้ประกอบการที่มีการผลิตเพื่อส่งออกด้วย พบว่า สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกทรงตัว ได้แก่ ปลากระป๋อง นม/นมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม อาหารสัตว์ และผ้าอนามัย สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สารซักฟอก และเจลล้างมือ สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลง ได้แก่ ไก่สด/แช่เย็นแช่แข็ง ข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเล (ปลาและหมึก) สด/แช่เย็นแช่แข็ง

3) ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง และต้นทุนการผลิต (อาทิ ส่วนลดค่าไฟ การควบคุมราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิต) ออกมาตรการช่วยระบายสินค้าไปสู่ตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งทบทวนและผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ในพื้นที่ที่ปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงน้อย

  • สถานการณ์การผลิต และการจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้าง

จากการโทรศัพท์สอบถามผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ในสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ คอนกรีตและผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เครื่องขุดเจาะพื้น และอิฐ สรุปดังนี้

  • ภาวะการผลิตและการจำหน่าย ผู้ผลิตส่วนใหญ่ปรับลดอัตรากำลังการผลิต ตามคำสั่งซื้อและการก่อสร้างที่ชะลอตัว จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย ซึ่งได้ส่งผลให้การจำหน่ายชะลอตัว ประกอบกับยังไม่มีการประมูลโครงการก่อสร้างใหม่ ๆ และคาดว่าหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ภาครัฐจะเร่งขับเคลื่อนให้มีการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างให้ฟื้นตัวได้โดยเร็ว
  • ความเคลื่อนไหวรายสินค้า อาทิ ปูนซีเมนต์ ร้านค้าประเภทดีลเลอร์มียอดขายเพิ่มขึ้น จากกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เปลี่ยนช่องทางการสั่งซื้อสินค้า คอนกรีตและผลิตภัณฑ์คอนกรีต การผลิตยังคงดำเนินการได้ปกติ แต่มีกฏระเบียบในการทำงานที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ส่วนยอดจำหน่ายลดลงเล็กน้อย อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ไม่ได้รับผลกระทบ กำลังการผลิตอยู่ในระดับสูง จากโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่เร่งดำเนินการ ด้านการจำหน่ายของผู้ผลิตมียอดขายสูงขึ้น ขณะที่การจำหน่ายของร้านค้ารายย่อยได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ผลิตส่งสินค้าให้ปริมาณจำกัด เครื่องขุดเจาะพื้น การสั่งซื้อสินค้ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากลูกค้าเลือกที่จะซ่อมแซมอุปกรณ์แทนการสั่งซื้อใหม่ อิฐ มีการลดอัตราการผลิตตามคำสั่งซื้อที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจจะหยุดการผลิตชั่วคราว และลดการจ้างงานลง หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ
  • ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ขอให้ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือในด้านเงินทุน ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเสริมสภาพคล่อง และมีมาตรการชดเชย/เยียวยา ให้แก่ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้ใช้แรงงานรายวัน
  • สถานการณ์การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ

จากการโทรศัพท์สอบถามผู้ประกอบการส่งออกทั้งสิ้นจำนวน 35 ราย ใน 12 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ผลไม้สด ลิ้นจี่กระป๋อง สัตว์น้ำปรุงแต่ง ปลาแปรรูป ถั่วลิสงปรุงแต่ง กุ้งแปรรูป ข้าวโพดหวาน ถั่วเขียว/ถั่วทอง ผลไม้อบแห้ง เนื้อสัตว์แช่เกลือ/แห้ง/รมควัน ไม้ยางพารา ผลไม้เชื่อม/ฉาบ สรุปดังนี้

1) แนวโน้มการส่งออก กลุ่มที่มีแนวโน้มทรงตัว มีสัดส่วนร้อยละ 25.7 ได้แก่ ผลไม้อบแห้ง และไม้ยางพารา เนื่องจากมีคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3 เดือน กลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนร้อยละ 14.3 ได้แก่ ผลไม้สด และปลาแปรรูป กลุ่มที่มีแนวโน้มลดลง มีสัดส่วนร้อยละ 45.4 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุด โดยสินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ ลิ้นจี่กระป๋อง ถั่วลิสงปรุงแต่ง/คั่ว ข้าวโพดหวาน และไม้ยางพารา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lock Down ของประเทศคู่ค้า ทำให้ส่งสินค้าไม่ได้ ต้องชะลอการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อเก่า และปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่เข้ามา นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบด้านการขนส่งสินค้าทางเรือ ความต้องการซื้อลดลง และมีการกดราคารับซื้อ กลุ่มที่ยังไม่สามารถคาดการณ์การส่งออกได้ มีสัดส่วนร้อยละ 14.3 ได้แก่ กุ้งแปรรูป และปลาแปรรูป เนื่องจากมีปัญหาลูกค้าขอเลื่อนการส่งมอบสินค้า ชะลอการสั่งซื้อสินค้า ทำให้ยอดส่งออกอาจน้อยลง

2) ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิตต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และจัดสรรเที่ยวบินให้เพียงพอกับการส่งออก

หมายเหตุ : เพื่อเผยแพร่ในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม 2563


กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์