รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรตรวจติดตามการดำเนินโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิง บ้านเกาะสามสิบ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ลงพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิง” บ้านเกาะสามสิบ หมู่ที่ 4 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร โดยมี นายศทัต หทัยวรรธน์ นายอำเภอขาณุวรลักษบุรี กล่าวต้อนรับ นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นายสมพร กาญจน์นิรันดร์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสุรเดช ศรีคำมูล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน ให้การต้อนรับ และนายวิทวัส วงศ์เครือศร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ บรรยายสรุปโครงการ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาการกัดเซาะ และการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำภายในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายนับไม่ถ้วน จังหวัดกำแพงเพชรเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เกิดปัญหาการกัดเซาะของตลิ่ง ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงได้มอบหมายให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการพัฒนาเมือง ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิง บริเวณบ้านเกาะสามสิบ หมู่ที่ 4 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ความยาวรวม 977 เมตร ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณ ประจำปี 2562 – 2564 จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจในประสิทธิภาพของโครงการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี และขอชื่นชมพี่น้องประชาชนจังหวัดกำแพงเพชรทุกท่านที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้จังหวัดกำแพงเพชรปลอดจากผู้ติดเชื้อ ขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และเป็นกำลังใจให้สู้กับปัญหาดังกล่าวต่อไป

ด้านนายวิทวัส วงศ์เครือศร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมโยธาธิการและผังเมือง บรรยายสรุปถึงการดำเนินงานของโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปิงว่า รูปแบบของโครงการเป็นเขื่อนชนิดเรียงหินใหญ่ โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ บริเวณบนสันเขื่อนจะเป็นทางเท้า มีราวกันตก พร้อมบ่อพักท่อระบายน้ำ หลังเขื่อนเป็นคันหินค.ส.ล. พร้อมถมดินอัดแน่นปรับระดับเข้าหาดินเดิม หน้าเขื่อนเป็นทรายถมอัดแน่นพร้อมปูแผ่นใยสังเคราะห์ และเรียงหินใหญ่ หนา 0.50 เมตร มีบันไดขึ้น-ลงหน้าเขื่อน รวม 8 แห่ง และตีนเขื่อนเป็นคันหินทิ้งความหนาไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร พร้อมวางกล่องแมทเทรส สำหรับความคืบหน้าของการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปกว่า 49 เปอร์เซ็นต์ เร็วกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้ 11.8 เปอร์เซ็นต์ การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีปัญหาและอุปสรรคแต่อย่างใด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2564 โครงการดังกล่าวจะช่วยลดความเสียหายที่อาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และยังคงรักษาไว้ซึ่งพื้นที่บริเวณริมตลิ่ง ก่อให้เกิดความสวยงาม และสามารถใช้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนต่อไปได้อีกด้วย