นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มีต่อเกษตรกรซึ่งขณะนี้ผลผลิตและสินค้าเกษตรทยอยออกสู่ตลาดในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเร่งสำรวจสินค้าเกษตรในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนกำหนดมาตรการและแนวทางสำหรับเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้ติดตามสถานการณ์ของสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดและส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ การจัดหาจุดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร รวมทั้งประสานกับผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ โดยใช้โครงสร้างระบบการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) และกรณีที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมให้แจ้งกรมส่งเสริมการเกษตรทราบโดยด่วน
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรในสถานการณ์ COVID-19 กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกันช่วยกระจายสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงสู่ผู้บริโภคภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” ในสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ เมล่อน แคนตาลูป มันเทศ แตงโม ส้มโอ ทุเรียน ฝรั่ง กล้วยหอม มะละกอ มะพร้าว กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง กล้วยไม้ มะลิ ดอกดาวเรือง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวม 137,601,444 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2563) ใน 4 กิจกรรม คือ 1) สนับสนุนสินค้าเกษตรภายใต้กิจกรรม “แทนความห่วงใยจากใจกรมส่งเสริมการเกษตรแก่บุคลากรทางการแพทย์” เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ จากกลุ่มแปลงใหญ่ ในจังหวัดต่าง ๆ ปริมาณผลผลิต 12.36 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 359,210 บาท 2) การขายสินค้าแบบออนไลน์ในทุกช่องทางสินค้าเกษตร เช่น www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com รวมสินค้าและผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายออนไลน์จาก 77 จังหวัด, Website Grand Opening, LAZADA, Shopee, Line, Facebook, 24shopping, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้าไปรับซื้อและช่วยกระจายผลผลิตผ่านระบบของไปรษณีย์ 3) การจำหน่ายผ่านตลาดออฟไลน์ ได้แก่ เปิดจุดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรผ่านตลาดเกษตรกรใน 77 จังหวัด การจำหน่ายร่วมกับผู้ประกอบการโดยตรงผ่าน Modern Trade เช่น Tesco Lotus โดยรับสินค้าจากแปลงส่งเสริมเกษตรกร ชนิดผักมากกว่า 43 ชนิด ประสานงานกับผู้ประกอบการ เช่น บริษัทรีเจนซี่ บรั่นดีไทย โรงงานนวพร ในการรับซื้อองุ่น และตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดไท, ประสานหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สั่งซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อรับประทาน รวมการจำหน่ายทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ปริมาณผลผลิต 2,682 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 137,242,234 บาท และ 4) เชื่อมโยงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมจำหน่ายสินค้าผ่าน Platform ทาง Thailandpostmart.com ได้สิทธิค่าขนส่งในการจำหน่ายผลผลิตสด เช่น ผลไม้ ผัก ในราคา ก.ก.ละ 8 บาท, บริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) เปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรขายผักตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. – 10 ก.ค. 2563, อตก.จัดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่คิดมูลค่า ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 17 พ.ค. 2563 และบริษัท โฮมโปร จัดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายในสวน Market Village สาขาสุวรรณภูมิ และสาขาหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 1 – 7 พ.ค. 2563
“นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดต่าง ๆ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้ช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายผลผลิตผลไม้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ การจัดหาจุดจำหน่ายสินค้าภายในจังหวัด การจำหน่ายสินค้าให้ส่วนราชการในจังหวัด ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน การให้คำแนะนำเกษตรกรจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ การชี้เป้าแหล่งผลิตไม้ผลคุณภาพดีของเกษตรกรทั้งมะม่วง ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง การเปิดประมูลสินค้าผลไม้ การนำสินค้าเกษตรของจังหวัดแลกเปลี่ยนกัน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธรนำสินค้าข้าวอินทรีย์ขนส่งโดยกองทัพอากาศแลกเปลี่ยนกับสินค้าอาหารทะเลของจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานทหารทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศขอความอนุเคราะห์ในการขนส่งและกระจายผลผลิตช่วยเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
********************************
อัจฉรา : ข่าว, เมษายน 2563, กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล, เมษายน 2563