แม้มีฝนตกลงบ้างบางพื้นที่ กรมชลฯ ยังคงเดินหน้าบรรเทาภัยแล้ง

แม้ในระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างในหลายพื้นที่ ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นและบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้บ้าง แต่กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้งต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(30 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,830 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,521 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,953 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (30 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 17,053 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,595 ล้าน ลบ.ม. เกินแผนไปประมาณร้อยละ 2 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ที่วางไว้

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กรมชลประทาน ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 60 จังหวัด(เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 จังหวัด) 205 อำเภอ 329 ตำบล 658 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งมีพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำด้านการอุปโภคบริโภค 69 แห่ง และพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร 67 แห่ง โดยมีการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 67 คัน (รวมปริมาณน้ำสะสมประมาณ 5 ล้านลิตร) เครื่องสูบน้ำ 392 เครื่อง (รวมปริมาณน้ำสะสมประมาณ 14 ล้าน ลบ.ม.) และเครื่องจักรสนับสนุนอื่นๆอีก 158 หน่วย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับผลิตประปาอีก 53 แห่งด้วย

อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่สัปดาห์จะเข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 แล้ว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้ จะมีปริมาณฝนดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ทุเลาเบาบางลงได้  และแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขา แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงอ่างเก็บน้ำต่างๆ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาไม่มากก็น้อย ในส่วนของการเพาะปลูกนั้น คงต้องรอการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบกับต้องมีปริมาณฝนตกอย่างสม่ำเสมอ และปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำธรรมชาติมากพอที่จะทำการเกษตรได้ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา หรือโทร.สายด่วน   กรมชลประทาน 1460 ชลประทานพร้อมบริการประชาชน


ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

30 เมษายน 2563