“ไทยร่วมประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการดินอย่างยั่งยืนของสมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership หรือ GSP)”

วันที่ 27 เมษายน 2563 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในฐานะประธานสมัชชาความร่วมมือดินภูมิภาคเอเชีย (Asian Soil Partnership: ASP) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ได้ร่วมประชุมทางไกลร่วมกับประธานสมัชชาความร่วมมือดินระดับภูมิภาค (Regional Soil Partnerships) จาก 8 ภูมิภาค แอฟริกา เอเชีย ยูเรเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และแปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ 8 ภูมิภาคในการพัฒนาทรัพยากรดิน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

ผู้แทนแต่ละภูมิภาคได้รายงานการดำเนินกิจกรรมด้านการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ในส่วนของภูมิภาคเอเชีย นำเสนอความคืบหน้าของการขับเคลื่อน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ CESRA ในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย และความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมวันดินโลก และรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award นอกจากนี้ ภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ แอฟริกา ละตินอเมริกา ได้แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือในการการจัดตั้งเครือข่ายหมอดินอาสา ซึ่งเป็นโครงการ FAO และ สมัชชาความร่วมมือดินโลก (GSP) ได้นำความรู้และประสบการณ์ดำเนินกิจกรรมโครงการหมอดินอาสาของไทย ไปขยายผลในระดับโลก

ในระหว่างการประชุม นางสาวเบญจพร ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานของ 8 ภูมิภาคในการพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยยกกรณีความสำเร็จของประเทศไทย ที่ผลักดันเรื่องดินสู่ระดับนโยบาย โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการจัดการดินโดยตรง เป็นกลไกหลัก และมีเครือข่ายความร่วมมือภายในประเทศทั้งภาคเอกชน เช่น สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และเกษตรกร คือหมอดินอาสา ร่วมผลักดันนโยบายและแผนงานด้านดินในระดับพื้นที่และระดับประเทศสู่การจัดการดินอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ได้เสนอให้แต่ละภูมิภาคพิจารณาบทบาทของผู้แทนถาวรของแต่ละประเทศ ให้เป็นกลไกเชื่อมโยงและประสานข้อมูลในระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ รวมทั้งได้เสนอข้อดี-ข้อเสียของการปรับเปลี่ยนสถานภาพของสมัชชาความร่วมมือดินโลก (GSP) ไปสู่คณะกรรมการหรือองค์กรภายใต้ธรรมนูญของ FAO และ ขอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันผลักดันนโยบาย แผนงาน และโครงการด้านดินในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสร้างระบบอาหารที่อย่างยั่งยืน (Sustainable food systems) ต่อไป


ข้อมูล: สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำกรุงโรม