กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลปัญหาการเลี้ยงช้างจากจังหวัดที่มีปางช้างทั้งหมด 22 จังหวัด พบว่า มีปางช้าง 91 ปาง จากปางช้างทั้งหมด 235 ปาง พบประสบปัญหาอาหารสำหรับเลี้ยงช้างไม่พอเพียง โดยกรมปศุสัตว์ได้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือปางช้างที่ขาดแคลนอาหารด้วยการแนะนำให้ปางช้างหาแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ ย้ายช้างไปเลี้ยงที่มีแหล่งอาหารพอเพียง รวมถึงประสานขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ หรือองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ หรือปางช้างอื่น ทั้งนี้ผู้เลี้ยงช้างที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถสอบถามหรือขอรับความช่วยเหลือเรื่องเสบียงอาหารสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพื้นที่
นายสัตวแพทย์ธีระวุฒิ สุวัธนะเชาว์ ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้เป็นผู้แทนในการแถลงข่าว “ปัญหาช้างขาดอาหารในช่วงเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19” เปิดเผยว่า ในช่วงเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลปัญหาการเลี้ยงช้างในช่วงเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 จากจังหวัดที่มีปางช้างทั้งหมด 22 จังหวัด พบว่ามีปางช้าง 235 ปาง ช้าง 2,459 เชือก แบ่งเป็นปางช้างที่ประสบปัญหาอาหารเลี้ยงช้างไม่พอเพียง 91 ปาง ช้าง 989 เชือก กระจายอยู่ทุกภูมิภาคยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปางช้างที่ไม่ประสบปัญหาอาหารเลี้ยงช้างเลย 144 ปาง ช้าง 1,470 เชือก โดยสามารถแบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. จังหวัดที่ปางช้างไม่มีปัญหาอาหารสำหรับเลี้ยงช้าง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครราชสีมา สุรินทร์ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบุรี นครปฐม พังงา และสุราษฎร์ธานี
2. จังหวัดที่มีปางช้างบางปางประสบปัญหาอาหารสำหรับเลี้ยงช้างไม่พอเพียง จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ กาญจนบุรี กระบี่ และภูเก็ต
3. จังหวัดที่มีปางช้างประสบปัญหาอาหารสำหรับเลี้ยงช้างไม่พอเพียงทุกปางทั้งจังหวัด จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ตราด สุโขทัย ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุปัญหาอาหารเลี้ยงช้างไม่พอเพียงส่วนใหญ่เกิดจากช่วงนี้เป็นฤดูแล้งทำให้แหล่งอาหารขาดแคลน พืชอาหารช้างมีราคาสูงขึ้น การขาดรายได้จากการท่องเที่ยวทำให้ไม่มีเงินทุนดำเนินกิจการและซื้ออาหารเลี้ยงช้าง กรมปศุสัตว์จึงได้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือปางช้างที่ขาดแคลนอาหารดังนี้
1. แนะนำให้ปางช้างหาแหล่งอาหารจากธรรมชาติในพื้นที่ เช่น การนำช้างไปผูกล่ามไว้ในป่า และให้ควาญช้างเกี่ยวหญ้าในพื้นที่ใกล้เคียงมาให้ช้างกิน และปล่อยช้างลงแม่น้ำหรือแหล่งน้ำ
2. ใช้วัตถุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่สำหรับเลี้ยงช้าง เช่น เปลือกและกากสับปะรด ฟางข้าว กากมันสำปะหลัง
3. ย้ายช้างไปปางอื่นหรือจังหวัดอื่นที่มีแหล่งหญ้าอาหารช้างสมบูรณ์
4. ประสานขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิ หรือองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ หรือปางช้างอื่น
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะสนับสนุนหญ้าแห้งจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ใกล้เคียง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารชั่วคราว ส่วน ผู้เลี้ยงช้างที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถสอบถามหรือขอรับความช่วยเหลือเรื่องเสบียงอาหารสัตว์ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพื้นที่
ข้อมูล/ข่าว : กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ